ชื่อเรื่อง การศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง บทประยุกต์ ของนักเรียน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์
ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของ Polya
ผู้วิจัย นายเรืองศักดิ์ ยามโสภา
สังกัด โรงเรียนบ้านหนองแสงน้อย อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4
ปีที่ทำวิจัย 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง บทประยุกต์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้การจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของ Polya
กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านหนองแสงน้อย อำเภออุบลรัตน์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 6 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงทดลองแบบกลุ่มที่มีการทดสอบก่อนและทดสอบหลังการทดลอง (The one group pretest-posttest design) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฏีคอนสตรัคติวิสต์ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาของ Polya เรื่อง บทประยุกต์ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 12 แผน 24 ชั่วโมง และแบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง บทประยุกต์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเป็นแบบอัตนัย จำนวน 12 ข้อ มีการให้คะแนนแบบ Rubric score และหาประสิทธิภาพโดยประเมินค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างเนื้อหากับจุดประสงค์การเรียนรู้ (IOC) และหาความเชื่อมั่นในการตรวจให้คะแนนด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Peaerson product – moment coefficient correlation) ซึ่งเท่ากับ 0.9ึ7 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิดทฤษฎีคอนสตรัคติวิสต์ ที่เน้นกระบวนการการแก้ปัญหาของ Polya มีความสามารถในการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ก่อนเรียนได้คะแนนเฉลี่ย 31.00 จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 25.83 ของคะแนนเต็ม ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 7.01 หลังเรียนได้คะแนนเฉลี่ย 110.67 จากคะแนนเต็ม 120 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 92.22 ของคะแนนเต็ม ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 5.99 ซึ่งคะแนนหลังเรียนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนร้อยละ 66.39 โดยมีคะแนนหลังเรียนในขั้นทำความเข้าใจปัญหา ขั้นวางแผนแก้ปัญหา ขั้นดำเนินการตามแผน และขั้นมองย้อนกลับ เฉลี่ยร้อยละ 99.33, 94.44, 90.28 และ 86.81 ตามลำดับ