ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก เพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย
ชื่อผู้ศึกษา นางยินดี บัวขวัญ
ปีการศึกษา 2556
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย และ เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โรงเรียนเทศบาลวัดนิโครธาราม สังกัดเทศบาลเมืองพัทลุง จำนวน 31 คน ซึ่งได้มาจากวิธีเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ซึ่งผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบและมีกระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก 4 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 ขั้นสร้างแรงจูงใจต่อการเรียนรู้ กระตุ้นความสนใจที่จะร่วมกิจกรรม และเห็นภาพรวมของการเรียนรู้
ขั้นที่ 2 ขั้นการจัดประสบการณ์โดยใช้สถานการณ์ปัญหาในชีวิตประจำวัน ของนักเรียน 4 ด้าน กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มแล้วตัดสินใจเลือกการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุด
ขั้นที่ 3 ขั้นประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง
ขั้นที่ 4 ขั้นสรุปผลการเรียนรู้จากการแก้ปัญหาพร้อมเสริมสร้างการนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในเหตุการณ์ชีวิตประจำวัน
2. รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลักเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.11/81.07 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
3. ผลการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก พบว่า ความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนหลังได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก สูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นหลัก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ .01