ชื่อเรื่อง การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้
ของเล่นพื้นบ้าน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
โรงเรียนบ้านห้วยหลาว อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม
ผู้วิจัย นางเบญจมาศ ศรีรัตนพันธ์
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะชำนาญการ โรงเรียนบ้านห้วยหลาว
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2
ปีที่วิจัย 2559
บทคัดย่อ
วิทยาศาสตร์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความคิดของมนุษย์ สามารถทำให้มนุษย์มีความคิดที่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นระบบ ระเบียบ มีแบบแผน สามารถวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์ได้อย่างถี่ถ้วนรอบคอบ ทำให้สามารถคาดการณ์ วางแผน ตัดสินใจ แก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นเครื่องมือในการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์จึงมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ดังนั้นผู้วิจัย จึงสนใจในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์โดยใช้ของเล่นพื้นบ้าน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านห้วยหลาว อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม โดยมีจุดมุ่งหมายของการวิจัย 1) เพื่อพัฒนาแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ของเล่นพื้นบ้าน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้ของเล่นพื้นบ้าน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 3) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผล ของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ของเล่นพื้นบ้านกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านห้วยหลาว อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ที่เรียนในปีการศึกษา 2559 จำนวน 14 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purpossive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 3 ประเภท คือ 1) แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้ของเล่นพื้นบ้าน กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 12 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบ่งออกเป็น 5 ฉบับ ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบฉบับที่ 1 - 5 เท่ากับ 0.81, 0.78, 0.77,0.78 และ 0.80 ตามลำดับ 3) เอกสารประกอบการสอน ของเล่นพื้นบ้าน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สูตรการหาประสิทธิภาพ E1/E2 ค่าดัชนีประสิทธิผล และ t-test (Dependent Samples)
ผลการวิจัยปรากฏผล ดังนี้
1. แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง เสียงกับการ
ได้ยิน และเรื่อง แรงและความดัน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมี
ประสิทธิภาพ 80.90/80.32 ซึ่งสูงกว่าที่ตั้งไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้
วิทยาศาสตร์ เรื่อง เสียงกับการได้ยิน และเรื่อง แรงและความดัน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 5 มีค่าเท่ากับ 0.7484 หมายความว่า ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นจากก่อนเรียนด้วยแผนการจัด
กิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง เสียงกับการได้ยิน และ เรื่อง แรงและความดัน โดยใช้ของเล่นพื้นบ้าน ร้อยละ 74.84
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้ของเล่นพื้นบ้านมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง แรงและความดัน และเรื่อง เสียงกับการได้ยิน หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
โดยสรุป การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้ของเล่นพื้นบ้าน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 สามารถพัฒนากระบวนการคิด ความมีเหตุผล ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเรียนระดับชั้นอื่นต่อไป