ชื่อเรื่อง ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางสวัสดิวัน พรมทา
ปีที่วิจัย 2558
บทคัดย่อ
การเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ โดยสมาชิกในกลุ่มมีความสามารถแตกต่างกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน และ รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองและสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้ตนเองและสมาชิกในกลุ่มประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ (1 ) พัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และหาค่าดัชนีประสิทธิผลของกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 (2) เปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะทางสังคมระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ (3) ศึกษาความสามารถคงทนความรู้ของนักเรียนที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ (4) ศึกษาผลการใช้แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 โรงเรียนสายธารวิทยา อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 32 คน จำนวน 1 ห้องเรียน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ (1) แผนการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ วิชาวิทยาศาสตร์ ขั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 6 แผน (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ วิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 30 ข้อ เป็นแบบทดสอบแบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง .21 ถึง .57 ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ .77 (3) แบบวัดทักษะทางสังคมเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 32 ข้อ ตัวเลือก มีค่าอำนาจจำแนกระหว่าง .32 ถึง .87 ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบทั้งฉบับเท่ากับ .97 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ t test (Dependent Samples)
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ เรื่องแรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.33/80.27 และดัชนีของประสิทธิผลของกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีค่าเท่ากับ .6768
2. นักเรียนที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และทักษะทางสังคมโดยรวมและเป็นรายด้านหลังเรียนเพิ่มขึ้นจากก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สามารถคงทนความรู้หลังจากเรียนไปแล้ว 2 สัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ 79.73 ของคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนซึ่งไม่แตกต่างจากคะแนนเฉลี่ยหลังจากที่เรียนเสร็จใหม่ ๆ
4. นักเรียนสามารถสร้างองค์ความรู้ได้จากการเรียนรู้ร่วมกัน ส่งผลให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และการที่นักเรียนได้เรียนรู้และทำงานร่วมกัน ทำให้นักเรียนได้รู้จักการปรับตัวเข้ากับเพื่อน มีความรับผิดชอบ มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ทักษะทางสังคมดีขึ้น และเกิดความคงทนทางการเรียนรู้
โดยสรุป กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ หน่วยการเรียนรู้ แรงและการเคลื่อนที่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลเหมาะสม สำหรับนำไปใช้พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีทักษะทางสังคม และเกิดความคงทนในการเรียนรู้