สุจิตรา ไชยธงรัตน์. 2559. การพัฒนากิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4.
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสภาพและความต้องการให้มีการจัดกิจกรรมแนะแนวตามความคิดเห็นของครูผู้สอนในวิชากิจกรรมแนะแนว 2) เพื่อพัฒนากิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง 3) เพื่อศึกษาผลการใช้กิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ด้วยการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) มีขั้นตอนวิจัย 3 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ศึกษาบริบท สภาพปัจจุบัน และแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมแนะแนวตามคิดจิตตปัญญาศึกษา ระยะที่ 2 การพัฒนากิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเอง ระยะที่ 3 การนำกิจกรรมแนะแนวไปใช้และศึกษาผลการใช้กิจกรรมแนะแนว โดยประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลองจริง คือ ให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 4 โรงเรียนมัธยมเทศบาล 6 นครอุดรธานี จำนวน 5 ห้องเรียนทำแบบสอบถามการเห็นคุณค่าในตนเองที่ผู้วิจัยได้พัฒนาสร้างขึ้น จำนวน 52 ข้อ แล้วนำแบบทดสอบมาตรวจให้คะแนนตามน้ำหนักของตัวเลือก
ที่กำหนดไว้แล้วคัดเลือกห้องเรียนที่ได้คะแนนเฉลี่ยต่ำสุด จำนวน 30 คน 1 ห้องเรียน เป็นกลุ่มตัวอย่าง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษา แบบสังเกตพฤติกรรมนักเรียน แบบบันทึกการเขียนอนุทินของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสถิติ t-test Dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ครูผู้สอนไม่มีแผนการจัดกิจกรรมแนะแนว เนื้อหาและขั้นตอนการสอนที่แน่นอนชัดเจน เน้นการสอนแบบบรรยาย ครูผู้สอนต้องการให้นักเรียนมีสมาธิ สติจดจ่อในการการเรียน ต้องการให้นักเรียนรู้จักให้เกียรติเคารพ ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข เป็นคนดี คนเก่ง มีความรับผิดชอบ สนใจกระตือรือร้นในการเรียน โดยเฉพาะต้องการให้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวจิตตปัญญาศึกษาเพื่อจะนำมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอน นอกจากนี้ครูผู้สอนยังให้ข้อมูลในการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน พบว่า ด้านที่ต้องการให้มีการพัฒนามากที่สุด คือ ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.14 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.48 รองลงมาคือ ด้านครูผู้สอน มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.60 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.68 และด้านการวัดและประเมินผล
มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.99 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.62
2. ผลการพัฒนากิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่า
ในตนเองของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) แนวคิดและทฤษฎีพื้นฐาน
2) วัตถุประสงค์ 3) ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ซึ่งมี 4 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นสำรวมจิต(Concentrate) ขั้นที่ 2 ขั้นการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ (P - Participation) ขั้นที่ 3 ขั้นสะท้อนกลับการเรียนรู้ (L Learning Reflecting) ขั้นที่ 4 ขั้นประยุกต์ใช้ (A - Application) กระบวนการจัดการเรียนรู้
มีกิจกรรมหลัก 3 กิจกรรม ได้แก่ การเจริญสติ (Contemplation) การทําสมาธิ (Concentration) และสุนทรียสนทนา (Dialogue)
3. ผลการใช้กิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองหลังเข้าร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แสดงให้เห็นว่ากิจกรรมแนะแนวสามารถเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองของนักเรียนได้
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเข้าร่วมกิจกรรมแนะแนวตามแนวคิดจิตตปัญญาศึกษาเพื่อเสริมสร้างการเห็นคุณค่าในตนเองมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก