ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม
ชื่อผู้ศึกษา นางสาววราภรณ์ กลัดเจริญ
ปีที่ศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียน โสตศึกษาจังหวัดนครปฐม ใน 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิต 2) ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐมโดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ของ Stufflebeam กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วย ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 56 คน ที่ได้มาจากวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Selection) นักเรียนและ ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 280 คน ที่ได้มาจากวิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยใช้ตารางการสุ่มตัวอย่างของ Krejcie and Morgan จากจำนวนประชากร 478 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็นและแบบสอบถามความพึงพอใจ จำนวน 5 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (frequence) ค่าร้อยละ (percentage) ค่าเฉลี่ย (mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviation)
ผลการประเมินพบว่า
การประเมินโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม ในภาพรวมทั้ง 4 ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยเรียงจากมากไปน้อย คือ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านกระบวนการ ด้านปัจจัยนำเข้า และด้านผลผลิต ตามลำดับ เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละด้าน ปรากฏผลดังนี้
ด้านสภาวะแวดล้อม ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาโดยเรียงจากค่าเฉลี่ย ระดับความคิดเห็นสูงสุด 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก คือ โครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน รองลงมาคือ โครงการมีความสอดคล้องกับการดูแลนักเรียนประเภท อยู่ประจำ และโรงเรียนมีทิศทางในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียน ตามลำดับ
ด้านปัจจัยนำเข้า ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อ พิจารณาโดยเรียงจากค่าเฉลี่ยระดับ ความคิดเห็นสูงสุด 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก คือ ผู้บริหารมีความตระหนักและเห็นความสำคัญ ให้การส่งเสริมสนับสนุนการจัดระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน รองลงมาคือ ครูประจำชั้น/ครูผู้สอน/ครูประจำหอนอน มีความตระหนักและเห็นความสำคัญในการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และโรงเรียนจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพียงพอในการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ตามลำดับ
ด้านกระบวนการ ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับ กระบวนการทำงาน 5 ขั้นตอน คือ 1)การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 2) การคัดกรองนักเรียน 3) การส่งเสริมนักเรียน 4) การป้องกันและแก้ไขปัญหา 5) การส่งต่อ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าทุกรายการอยู่ในระดับมากเช่นเดียวกัน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ การส่งเสริมพัฒนานักเรียน การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล การส่งต่อ การป้องกันและแก้ไขปัญหา และการคัดกรองนักเรียน ตามลำดับ
ด้านผลผลิต ความคิดเห็นของผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาโดยเรียงจากค่าเฉลี่ยระดับความคิดเห็นสูงสุด 3 อันดับ พบว่า อันดับแรก คือ นักเรียนได้รับการดูแลจากครูอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง และนักเรียนกับครูมีสัมพันธภาพที่ดีเป็นไปด้วยดีและอบอุ่น รองลงมาคือ นักเรียนมีสุขภาพกายสุขภาพจิตและสุขลักษณะนิสัยที่ดี ตามลำดับ
ผลประเมินความพึงพอใจของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม พบว่า ระดับความพึงพอใจของนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียนที่มีโครงการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก