ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็ก
ปฐมวัย
ผู้วิจัย นางอรุณลักษณ์ คำมณี
สถานที่ทำงาน โรงเรียนเมืองวาปีปทุม อำเภอวาปีปทุม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา
ประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2
วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
ปีที่พิมพ์ 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยเชิงพัฒนา (Research and Development) มีความมุ่งหมายเพื่อสร้างรูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย และหาคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้
ระยะที่ 1 การสร้างรูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย โดยสังเคราะห์ เอกสาร งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ผลการสังเคราะห์ทำให้ได้รูปแบบมีองค์ประกอบการสอน 4 ขั้นตอน ซึ่งประกอบด้วย ขั้นรับข้อมูล (Data : D) ขั้นศูนย์ปฏิสัมพันธ์ (Interaction : I) ขั้นสรุป แบ่งปัน นำเสนอได้ (Present : P) และขั้นประยุกต์ใช้เหมาะสม (Application : A) ผลการตรวจสอบความเหมาะสมของรูปแบบอยู่ในระดับมาก มีค่าคะแนนเฉลี่ยระหว่าง 4.00 - 4.60 สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย คู่มือการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ของครู แผนการจัดประสบการณ์ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าคะแนนเฉลี่ยระหว่าง 3.80 - 4.80 แบบสังเกตพฤติกรรมคุณธรรมของเด็กปฐมวัย มีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 0.80-1.00 มีค่าความเชื่อมั่นด้านความขยัน ความประหยัด ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสุภาพ ความสะอาด ความสามัคคี และความมีน้ำใจ เท่ากับ .99, .94, .95, .94, .95, .99, .99, .95 ตามลำดับ ทดลองนำร่องรูปแบบการจัดประสบการณ์ จำนวน 2 ครั้ง กับเด็กปฐมวัย ระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 1 ห้อง ในปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านนาเลา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2 จำนวน 26 คน
ระยะที่ 2 การหาคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย ใช้แบบแผนการวิจัยแบบ Randomized Control Group Pretest- Posttest Design กลุ่มตัวอย่างคือ เด็กปฐมวัยระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ปีการศึกษา 2557 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต 2 จำนวน 94 คน โดยแบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 47 คน กลุ่มควบคุม 47 คน ใช้ระยะการทดลอง 8 สัปดาห์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ t test for dependent samples, ANCOVA และ MANOVA การหาคุณภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย ปรากฏผลดังนี้ เด็กปฐมวัยกลุ่มทดลองมีพฤติกรรมคุณธรรมสูงกว่าก่อนการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เด็กปฐมวัยกลุ่มควบคุมก่อนและหลังการทดลองมีพฤติกรรมคุณธรรมไม่แตกต่างกันในทุกด้าน เด็กปฐมวัยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมก่อนการทดลองมีพฤติกรรมคุณธรรมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 เด็กปฐมวัยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมมีพฤติกรรมคุณธรรมด้านความขยัน ความประหยัด ความซื่อสัตย์ ความมีวินัย ความสุภาพ ความสะอาด ความสามัคคี และความมีน้ำใจ หลังการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
ระยะที่ 3 การขยายผลรูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัยโดยให้ครูปฐมวัย จำนวน 6 คน ของโรงเรียนเมืองวาปีปทุม ที่ปฏิบัติการสอนในระดับชั้นอนุบาลปีที่ 2 ปีการศึกษา 2558 นำรูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัยไปสอน ผลการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย ครูปฐมวัยมีความความคิดเห็นว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์ เพื่อพัฒนาคุณธรรม สำหรับเด็กปฐมวัย มีความเหมาะสม อยู่ในระดับมาก มีค่าคะแนนเฉลี่ยระหว่าง 4.13 - 4.75 สามารถนำไปใช้เป็นรูปแบบการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาคุณธรรมสำหรับเด็กปฐมวัยได้