ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถ ในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางทิพย์กมล พัฒนชยากร
โรงเรียน โรงเรียนโยธินนุกูล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลหนองไผ่ล้อม
ปีที่พิมพ์ พ.ศ. 2559
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความสามารถในการคิดอย่างวิจารณญาณของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน จากการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนในการประเมินรูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ครั้งนี้ คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 25 คน โรงเรียนโยธินนุกูล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมาได้มาจากการสุ่มกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัด การเรียนรู้ จำนวน 6 แผน 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งเป็นแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.25-0.75 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (KR-20) เท่ากับ 0.87 3) แบบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.25-0.58 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (KR-20) เท่ากับ 0.90 และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 20 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.36-0.73 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ (α) เท่ากับ 0.93 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t – test for Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานพบว่าหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนให้พึงรู้ ปฏิบัติได้ มีคุณธรรมจริยธรรม และมีค่านิยมที่พึงประสงค์ หลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ในการจัดการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนใจ ใฝ่รู้ใฝ่เรียน มีทักษะกระบวนการ มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ ตลอดจนส่งเสริมให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นได้นั้น ผู้สอนจำเป็นต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อสนองความแตกต่างของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข สอดคล้องกับความถนัดของแต่ละบุคคล และพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มความสามารถและเหมาะสมกับวัยซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามแนวทฤษฎีการสร้างสรรค์ความรู้และแนวคิดการให้เหตุผลเป็นแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
2. ผลการพัฒนาได้รูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถ
ในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีองค์ประกอบอยู่ 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) หลักการ 2) จุดประสงค์ 3) เนื้อหาสาระ 4) กระบวนการเรียนรู้ และ 5) การวัดและประเมินผล และมีชื่อว่า “ECACE Model” มีกิจกรรมการเรียนรู้ในองค์ประกอบที่ 4 อยู่ 5 ขั้น คือ 1) ขั้นสร้างความสนใจและระบุปัญหา (Engagement and Problem Identification step : E) 2) ขั้นร่วมมือและวิธีการทางประวัติศาสตร์ (Cooperation and History-Method step : C ) 3) ขั้นวิเคราะห์และการให้เหตุผล (Analysis and Reasoning : A) 4) ขั้นสร้างองค์ความรู้ (Constructivism step : C ) และ 5) ขั้นประเมินผลและประยุกต์ใช้ (Evaluation and Application step : E ) สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 นี้ มีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมาก และมีประสิทธิภาพ ตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80 /80
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถ
ในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักเรียนมีความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. การประเมินรูปแบบการเรียนการสอนพบว่านักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนสาระประวัติศาสตร์ที่เสริมสร้างความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อยู่ในระดับมากที่สุด