ชื่อเรื่อง ผลการใช้แบบฝึกทักษะเสริมทักษะการอ่านและการเขียน
คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย
ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านวังใหม่ (ประชาอุทิศ 2519)
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3
ชื่อผู้รายงาน นางเบญจมาศ ศิริสุวรรณ
ตำแหน่ง ครูชำนาญการ
โรงเรียน โรงเรียนบ้านวังใหม่ (ประชาอุทิศ 2519)
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้การอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2โรงเรียนบ้านวังใหม่ (ประชาอุทิศ 2519) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 ที่เรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 1 ห้องเรียน มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ 1)แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 4 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา จำนวน 18 แผน 18 ชั่วโมง 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 3 ตัวเลือกจำนวน 20 ข้อและ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะผู้ศึกษาค้นคว้าได้ดำเนินการสอนด้วยตนเอง ใช้เวลาทดลองสัปดาห์ละ 4ชั่วโมง รวม 18 ชั่วโมงสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาพบว่า
1. แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.98/88.88 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ผลการเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้การอ่านและเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรา โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะ พบว่า การทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 13.25 คะแนน และ 17.90 คะแนน ตามลำดับและเมื่อเปรียบเทียบระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน พบว่า คะแนนสอบหลังเรียนของนักเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การอ่านและการเขียนคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงมาตรากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้แบบฝึกเสริมทักษะโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด