ชื่อผู้ทำวิจัย : สุนิสา ร่มรื่น
ชื่องานวิจัย : การประเมินโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ เทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง
คำสำคัญ : ศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว, การประเมินโครงการ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ประเมินโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ (2) ศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ และ (3) เสนอแนวทางพัฒนาการดำเนินงานของโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาลวัดปากน้ำ เทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบ CIPIEST Model ผู้วิจัยใช้แบบสอบถาม ที่มีความเที่ยงตรงรายข้อระหว่าง 0.8-1.0 ความเชื่อมั่น 0.94 ทำการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งหมด 298 ฉบับ ได้รับแบบสอบถามที่สมบูรณ์คืนทั้งสิ้น จำนวน 254 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 85.23 และแบบสัมภาษณ์ที่มีความเที่ยงตรงรายข้อระหว่าง 0.8-1.0 ทำการสัมภาษณ์ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการท่องเที่ยวในท้องถิ่น กรรมการสถานศึกษา เครือข่ายผู้ปกครองและนักเรียน รวม 10 คน แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติที่เป็น ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการประเมินโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว พบว่า มีการปฏิบัติโดยภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากเกือบทุกเรื่องในด้านต่าง ๆ ยกเว้นเรื่องกิจกรรมของโครงการช่วยให้เกิดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นอย่างสอดคล้องเหมาะสมกับผู้เรียนในด้านบริบทของโครงการ เรื่องวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินโครงการมีความเหมาะสมเพียงพอในด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ เรื่องการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆ ได้อย่างหลากหลายในระหว่างดำเนินโครงการ และเรื่องการเปิดโอกาสให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นเพื่อเสนอแนะในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการในด้านกระบวนการของโครงการ เรื่องนักเรียนสามารถนำความรู้ด้านการท่องเที่ยวท้องถิ่นอย่างถูกต้องไปเผยแพร่สร้างประโยขน์แก่ชุมชนท้องถิ่นของตน เรื่องความร่วมมือระหว่างวัด ชุมชน กับโรงเรียนมีมากขึ้น และเรื่องกรรมการสถานศึกษาให้ความร่วมมือสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามโครงการในด้านผลกระทบของโครงการ เรื่องประโยชน์ที่ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น หรือหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวได้รับจากศูนย์การเรียนรู้เพื่อการท่องเที่ยวในด้านประสิทธิผลของโครงการ เรื่องนักเรียนสามารถแสวงหาความรู้ ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวต่าง ๆ เพิ่มเติมอย่างถูกต้องได้ด้วยตนเองจากศูนย์การเรียนรู้หรือแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ในด้านความยั่งยืนของโครงการ ที่มีการปฏิบัติอยู่ในระดับปานกลาง
2. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย (2.1) ครูมีความรู้ความสามารถและทักษะในการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่เพียงพอ (2.2) การประสานงานระหว่าง ครู ผู้รับผิดชอบโครงการ นักเรียน ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา วัด ชุมชนและหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ข้อมูล ขอความร่วมมือหรือเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้เกี่ยวข้องยังมีคุณภาพไม่เพียงพอ (2.3) ความล้าสมัยของวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้หรือสื่อต่าง ๆ (2.4) นักเรียนขาดความตื่นตัว กระตือรือล้นที่จะติดตามความรู้ใหม่ๆ (2.5) การติดตามผลและรับฟังข้อมูลย้อนกลับ(Feedback) ยังไม่สม่ำเสมอต่อเนื่อง
3. แนวทางพัฒนาการดำเนินงานโครงการศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย (3.1) ควรขยายขอบเขตกิจกรรมตามโครงการให้แก่นักเรียนทุกระดับชั้นตามความเหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียน รวมทั้งการจัดกิจกรรมในชุมชน (3.2) ควรปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้หรือสื่อให้ทันสมัยเหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชนมากยิ่งขึ้น (3.3) ควรประสานงานในการขอความช่วยเหลือทั้งด้านงบประมาณ วิชาการ สื่อและวัสดุที่จำเป็นจากชุมชน หน่วยงานต้นสังกัด และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (3.4) ควรมีการพัฒนาครู และผู้เกี่ยวข้องให้มีสมรรถภาพในการร่วมโครงการมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวกับกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ (3.5) ควรเปิดโอกาสให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับในการดำเนินโครงการอยู่เสมอ (3.6) ควรจัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้ศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างหลากหลายในโอกาสต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นความสนใจแก่นักเรียน ชุมชนและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย