บทคัดย่อ
ชื่อเรื่องวิจัย : การเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดีของนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ KANTA
MODEL โรงเรียนคันธพิทยาคาร จังหวัดตรัง ปีการศึกษา 2557-2558
ชื่อผู้วิจัย : นายสมปอง ห่วงจริง
ปีการศึกษา : 2557-2558
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาระดับคุณภาพการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดีของนักเรียนโดยใช้กลยุทธ์ KANTA MODEL โรงเรียนคันธพิทยาคาร หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2557-2558 2) เพื่อศึกษาคุณลักษณะความเป็นพลเมืองดีของนักเรียน โรงเรียนคันธพิทยาคาร หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2557-2558 3) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โรงเรียนคันธพิทยาคาร หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2557-2558 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายชุมชน ที่มีต่อการพัฒนาการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดีของนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ KANTA MODEL โรงเรียนคันธพิทยาคาร หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2557-2558
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ประกอบด้วย นักเรียนปีการศึกษา 2557 จำนวน 191 คน และปีการศึกษา 2558 จำนวน 220 คน ครู ปีการศึกษา 2557 จำนวน 37 คน และปีการศึกษา 2558 จำนวน 38 คน ผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2557 จำนวน 191 คน และปีการศึกษา 2558 จำนวน 220 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2557 และปีการศึกษา 2558 จำนวน 13 คน และเครือข่ายชุมชน ปีการศึกษา 2557 และปีการศึกษา 2558 จำนวน 24 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ มีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือทุกฉบับ ได้ค่าความเชื่อมั่นระหว่าง 0.98-0.99 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS for Windows V.18
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลระดับคุณภาพการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดีของนักเรียนที่เกิดจากการใช้กลยุทธ์ KANTA MODEL โรงเรียนคันธพิทยาคาร ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2557 โดยภาพรวมทั้งสี่กลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพอยู่ในระดับปานกลาง-มาก ปีการศึกษา 2558 หลังการพัฒนาโดยภาพรวมทั้งสี่กลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด สอดคล้องตามสมมติฐาน
2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลคุณลักษณะความเป็นพลเมืองดีของนักเรียนที่เกิดจากการใช้กลยุทธ์ KANTA MODEL โรงเรียนคันธพิทยาคาร ตามความคิดเห็นของครู และผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2557 โดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพอยู่ในระดับปานกลาง-มาก ปีการศึกษา 2558 หลังการพัฒนาโดยภาพรวมทั้งสองกลุ่มที่ประเมิน มีคุณภาพอยู่ในระดับมาก-มากที่สุดสอดคล้องตามสมมติฐาน
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนคันธพิทยาคาร ภายหลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2557 และปีการศึกษา 2558
3.1 คะแนนผลสัมฤทธิ์ระดับสถานศึกษาของนักเรียนโรงเรียนคันธพิทยาคาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ในปีการศึกษา 2557 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ย 64.64 และเมื่อดำเนินกลยุทธ์ KANTA MODEL ในปีการศึกษา 2558 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น มีคะแนนรวมเฉลี่ย 68.51 โดยมีค่าพัฒนา 3.87 สอดคล้องตามสมมติฐาน
3.2 ผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2557 โดยภาพรวมมีคะแนนเฉลี่ย 33.63 ปีการศึกษา 2558 มีคะแนนเฉลี่ย 34.93 แสดงให้เห็นว่า ปีการศึกษา 2558 คะแนนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก ปีการศึกษา 2557 (+1.30) ส่วนผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2557 โดยภาพรวมคะแนนเฉลี่ย 29.28 ปีการศึกษา 2558 โดยภาพรวมคะแนนเฉลี่ย 31.65 แสดงให้เห็นว่า ปีการศึกษา 2558 มีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า ปีการศึกษา 2557 โดยมีค่าพัฒนา 2.36 สอดคล้องตามสมมติฐาน
4. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และเครือข่ายชุมชนในการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดีของนักเรียน โดยใช้กลยุทธ์ KANTA MODEL โรงเรียนคันธพิทยาคาร ปีการศึกษา 2557 โดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมิน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับปานกลาง-มาก ปีการศึกษา 2558 หลังการพัฒนาโดยภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมิน มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะเพื่อนำไปใช้
1.1 สถานศึกษาควรชี้แจงและทำความเข้าใจเพื่อสร้างความตระหนักให้นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดี และควรใช้หลักการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อีกทั้งใช้การวิจัยเป็นฐานในการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดี
1.2 หลังการพัฒนาโรงเรียนควรมีการตรวจสอบพฤติกรรม/คุณลักษณะความเป็นพลเมืองดีอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อดูแนวโน้มความยั่งยืนหรือความคงทนถาวรของความเป็นพลเมืองดีของนักเรียน
2. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนดีของนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นพลเมืองดีของนักเรียนตามตัวบ่งชี้ที่โรงเรียนกำหนด
2.2 ควรศึกษา/พัฒนารูปแบบหรือกลยุทธ์การบริหารแบบมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเป็นพลเมืองดีหรือการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในลักษณะอื่นๆ