ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามแนววิถีพุทธ
โรงเรียนพระทองคำวิทยา
ผู้วิจัย นายเกียรติศักดิ์ สาคะศุภฤกษ์
รองผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนพระทองคำวิทยา
ปีที่ดำเนินการ ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการประเมินโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามแนววิถีพุทธ โรงเรียนพระทองคำวิทยา มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อประเมินบริบทของโครงการ 2) เพื่อประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ 3) เพื่อประเมินกระบวนการในการดำเนินงานของโครงการและ 4) เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนและความพึงพอใจของบุคลากรในชุมชนที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามแนววิถีพุทธ โรงเรียนพระทองคำวิทยา
ใช้รูปแบบการประเมินแบบซิป (CIPP Model) ของสตัพเฟิลบีม (Daniel L. Stuffelbeam)
ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ 1) คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน ศึกษากับประชากรทั้งหมด 2) ผู้บริหาร จำนวน 3 คน ศึกษาจากประชากรทั้งหมด 3) ครูผู้สอน จำนวน 50คน ศึกษากับประชากรทั้งหมด 4) นักเรียน จำนวน 729 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 729 คน ซึ่งนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาได้จากการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตาราง Krejcie. และ Morgan และใช้วิธีสุ่มแบบง่าย (Simple Random Sampling) ด้วยวิธีจับฉลาก ได้กลุ่มตัวอย่างนักเรียน จำนวน 254 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 254 คน
เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบประเมินมีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ดังนี้ 1) แบบประเมินเกี่ยวกับบริบทของโครงการ 2) แบบประเมินเกี่ยวกับปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ
3) แบบประเมินเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการตามโครงการ 4) แบบประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการมีคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียนตามแนววิถีพุทธและ 5) แบบประเมินความพึงพอใจคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ครู นักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน ที่มีต่อโครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามแนววิถีพุทธ โรงเรียนพระทองคำวิทยา สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าดัชนีความสอดคล้อง ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่า ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย
1. การประเมินบริบท (Context Evaluation) โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามแนววิถีพุทธ โรงเรียนพระทองคำวิทยา พบว่า ความสอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ของโครงการกับนโยบายของโรงเรียน หลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ความต้องการของนักเรียน บทบาทหน้าที่ของโรงเรียน สภาพของชุมชน ศักยภาพและทรัพยากรของโรงเรียนและชุมชน เวลาและสถานการณ์ของสังคมในปัจจุบัน มีความสอดคล้องอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งนี้เนื่องมาจากคณะทำงานตามโครงการมีการวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการจำเป็นในการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามกรอบนโยบายของโรงเรียนและองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จึงทำให้สามารถกำหนดแผนการดำเนินงานและผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้โครงการสำเร็จไปตามเป้าหมายของโครงการ
2. การประเมินปัจจัยเบื้องต้นของโครงการ (Input Evaluation) โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามแนววิถีพุทธ โรงเรียนพระทองคำวิทยา พบว่า ความเหมาะสม ความพอเพียงในด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์และการบริหารจัดการในแต่ละกิจกรรม 5 กิจกรรม มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก เนื่องจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ครู มีความร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงานตามโครงการ ประสานงานจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการดำเนินการจัดกิจกรรมจากทุกภาคส่วน โดยมีเป้าหมายเดียวกับคือการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน
3. การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามแนววิถีพุทธ โรงเรียนพระทองคำวิทยา พบว่า มีกระบวนการดำเนินงานเป็นไปตามขั้นตอนที่วางไว้ พร้อมทั้งวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อยและสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขในกิจกรรมทั้ง 5 กิจกรรม มีระดับการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เนื่องจากโครงการ มีการกำหนดแผนการดำเนินการงานไว้เป็นขั้นตอนเป็นระบบ มีการกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการโดยผู้บริหารโรงเรียนอย่างเข้มแข็ง มีการประสานงานกับผู้ปกครอง ชุนชน องค์กรภายนอกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขทันท่วงที และการกำกับติดตามการดำเนินงานโครงการ จะช่วยให้ผู้รับผิดชอบโครงการ ได้สารสนเทศสำหรับใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงโครงการ ส่งผล ให้โครงการสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
4. การประเมินผลสัมฤทธิ์ (Product Evaluation) โครงการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมนักเรียนตามแนววิถีพุทธ โรงเรียนพระทองคำวิทยา พบว่า
ระดับการปฏิบัติเกี่ยวกับพฤติกรรมคุณธรรม จริยธรรมนักเรียน ทั้ง 8 ด้านอยู่ในระดับมาก เนื่องจากการกิจกรรมตามโครงการเป็นการบูรณาการหลักการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมตามแนววิถีพุทธเข้ามาในการจัดการเรียนการสอนและการใช้ชีวิตประจำวันของนักเรียน ส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการทางอารมณ์และพฤติกรรมการแสดงออกที่ดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากผลของการพัฒนาทางศีล การฝึกการทำสมาธิและปัญญา ทำให้นักเรียนมีการปฏิบัติตนตามกรอบวินัยของโรงเรียน ชุมชนและสังคม
ความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองนักเรียนและนักเรียนต่อโครงการอยู่ในระดับมาก โรงเรียนและชุมชนได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการที่ส่งผลให้ปัญหาทางด้านพฤติกรรมที่ไม่ดีของนักเรียนลดลง นักเรียนมีระเบียบวินัย ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมีการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมอย่างสม่ำเสมอ ทำให้นักเรียนคุ้นเคยกับการจัดกิจกรรมมากขึ้นมีการปฏิบัติตนโดยมีแบบอย่างที่ดี ครูและผู้ปกครองคอยดูแลอย่างใกล้ชิด