ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย กลุ่มสาระ
การเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ผู้วิจัย นางอรุณี ทองเลิศ
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนเทศบาล 2 วิภัชศึกษา เทศบาลเมืองสุรินทร์
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
รายงานการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการสำหรับการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย 2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย และ 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 โรงเรียนเทศบาล 2 วิภัชศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 37 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสัมภาษณ์ รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียน และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าค่าเฉลี่ย (x̄) ร้อยละ(%) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t test) แบบ dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย เป็นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการของการจัดการศึกษา แนวคิด ทฤษฎี พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และสอดคล้องกับความต้องการของผู้เชี่ยวชาญและครูผู้สอนสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ที่ต้องการให้รูปแบบการจัด การเรียนรู้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย
2. ได้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย ที่มีชื่อเรียกว่า MERAE Model มีองค์ประกอบของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ หลักการ จุดมุ่งหมายของรูปแบบ สาระการเรียนรู้ ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การวัดผลและประเมินผลกระบวนการเรียนรู้ สาระหลัก สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นจูงใจเพื่อเตรียมความพร้อม (Motivation : M) ขั้นที่ 2 ขั้นทบทวนความรู้เดิม (Elicitation of the prior knowledge : E) ขั้นที่ 3 ขั้นสะท้อนความรู้ (Reflection of knowledge : R) ขั้นที่ 4 ขั้นนำความรู้ไปใช้ (Application of knowledge : A) และขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผล (Evaluation : E) ผลการพัฒนา พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้มีค่าดัชนีความสอดคล้องเท่ากับ 1.00 ซึ่งถือว่ามีความสอดคล้องในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ และมีค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ในการทดลองใช้แบบรายบุคคลเท่ากับ 77.86/78.33 แบบกลุ่มย่อยเท่ากับ 78.33/79.17 และแบบกลุ่มใหญ่เท่ากับ 81.15/81.25 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย ควบคู่กับแผนการจัดการเรียนรู้ พบว่า ได้ค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 82.02/82.43 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
4. ผลการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนโดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด