บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) หาประสิทธิภาพของหนังสือเสริมประสบการณ์ ชุด เมืองตรังของหนู เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สำหรับนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบทักษะการฟังและการพูด ของนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 ระหว่างก่อนและหลังใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ ชุด เมืองตรังของหนู 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 ที่มีต่อหนังสือเสริมประสบการณ์ ชุด เมืองตรังของหนู
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 8 (อนุบาลฝันที่เป็นจริง) สังกัดเทศบาลนครตรัง ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 25 คน
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบ One Group Pre-test Post-test Design ซึ่งมีกลุ่มทดลองกลุ่มเดียว
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 2 ประเภท คือ 1)เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ด้วยการใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ ชุด เมืองตรังของหนู เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สำหรับนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 2)เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผล ได้แก่แบบสังเกตทักษะการฟังและการพูด แบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ใน การวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบสมมติฐานใช้ t test ( dependent sample) และประสิทธิภาพของนวัตกรรม E1/E2
ผลการวิจัยพบว่า
1) หนังสือเสริมประสบการณ์ ชุด เมืองตรังของหนู เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สำหรับนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ E1/E2 = 83.61 / 84.56
2) ผลการใช้หนังสือเสริมประสบการณ์ ชุด เมืองตรังของหนู เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สำหรับนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 ทั้ง 8 เล่ม มีคะแนนทักษะการฟังและการพูดหลังจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนจัดประสบการณ์
3) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 ที่มีต่อหนังสือเสริมประสบการณ์ ชุด เมืองตรังของหนู เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สำหรับนักเรียนชั้นปฐมวัยปีที่ 3 อยู่ในระดับมาก