ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยการบูรณาการแนวคิด
สร้างสรรค์ความรู้กับการเรียนแบบร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิด
สร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นางศิริจันทร์ ภูกงลี
ปีที่วิจัย 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยการบูรณาการแนวคิดสร้างสรรค์ความรู้กับการเรียนแบบร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) ออกแบบและพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยการบูรณาการแนวคิดสร้างสรรค์ความรู้กับการเรียนแบบร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 3) ทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยการบูรณาการแนวคิดสร้างสรรค์ความรู้กับการเรียนแบบร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 4) ประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยการบูรณาการแนวคิดสร้างสรรค์ความรู้กับการเรียนแบบร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 26 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ แบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติค่าทีแบบไม่อิสระ และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1.ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์มีความต้องการเรียนรู้ด้วยการบูรณาการแนวคิดสร้างสรรค์ความรู้ และการเรียนแบบร่วมมือ เพราะมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ และนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมจริง
2.รูปแบบการเรียนการสอนนี้มีชื่อเรียกว่า EPIS Model โดยมีองค์ประกอบดังนี้ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน สาระ สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ระบบสังคม หลักการตอบสนอง และสิ่งสนับสนุน รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีกระบวนการเรียนการสอน 4 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นการกระตุ้นความพร้อม (Encouragement : E) 2) ขั้นการฝึกทักษะ (Practice : P) 3) ขั้นประมวลทักษะ (Integrated : I) และ 4) ขั้นสรุป (Summarizing : S) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 82.56/83.91 ปรากฏว่าสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80 ค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.6421 แสดงว่ารูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยการบูรณาการแนวคิดสร้างสรรค์ความรู้กับการเรียนแบบร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ช่วยทำให้นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.21
3. นักเรียนที่เรียนด้วยการบูรณาการแนวคิดสร้างสรรค์ความรู้ และการเรียนแบบร่วมมือ เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ มีค่าเฉลี่ยคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ความพึงพอใจของนักเรียนต่อรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ด้วยการบูรณาการแนวคิดสร้างสรรค์ความรู้กับการเรียนแบบร่วมมือเพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก ( x̄ = 4.49, S.D = 0.76)