บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์คือ ๑) เพื่อพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๒) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ที่จัดการเรียนการสอนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ และ ๓) เพื่อประเมินความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ที่มีต่อการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย ๑) หนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ จำนวน ๘ เล่ม ๒) แผนการจัดการเรียนรู้การอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ จำนวน ๒๐ แผน ๓) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน จำนวน ๓๐ ข้อ และ ๔) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนรู้ด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ จำนวน ๑๕ ข้อ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕/๑ โรงเรียนบ้านลาแล อำเภอกาบัง จังหวัดยะลา สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต ๒ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ จำนวน ๒๗ คน ที่ผู้รายงานเป็นผู้สอน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ค่าสถิติคือ ค่าเฉลี่ย และค่าร้อยละ
ผลการศึกษาพบว่า
๑. ผลการพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนบ้านลาแล ที่ผู้รายงานสร้างขึ้นมีค่าเท่ากับ ๘๒.๕๒/๘๐.๗๙ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ประสิทธิภาพ ๘๐/๘๐ ที่วางไว้
๒. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนบ้านลาแล โดยคะแนนผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๑๒.๒๙ คิดเป็นร้อยละ ๔๐.๙๗ และคะแนนผลสัมฤทธิ์หลังเรียนมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๒๔.๒๔ คิดเป็นร้อยละ ๘๐.๘๐ ซึ่งคะแนนผลสัมฤทธิ์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ๑๑.๙๕ คิดเป็นร้อยละ ๓๙.๘๓
๓. ผลการศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความเรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ โรงเรียนบ้านลาแล มีระดับความพึงพอใจเฉลี่ยโดยรวม มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๔.๑๙ คิดเป็นร้อยละ ๘๓.๘๐ อยู่ในระดับมาก
ข้อเสนอแนะ
๑. ครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ควรนำหนังสือส่งเสริมการอ่านจับใจความ เรื่องเมืองยะลา กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมเสริมทักษะภาษาไทยเรื่องการอ่านจับใจความ เพราะได้ผลจากการศึกษาที่สามารถยืนยันความสำเร็จในการนำไปใช้แล้วคือ การมีประสิทธิภาพเท่ากับ ๘๒.๒๕/๘๐.๗๙ สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการอ่านจับใจความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ให้สูงขึ้นได้ และนักเรียนมีความพึงพอใจโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก
๒. จากผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมของครูผู้สอน พบว่า
นักเรียนมีความพึงพอใจต่อประเด็นด้านนักเรียนชอบการเรียนด้วยการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน และประเด็นด้านนักเรียนชอบศึกษาด้วยตนเองจากหนังสือส่งเสริมการอ่าน มีระดับความพึงพอใจสูงสุด อาจอธิบายได้ว่า หนังสือส่งเสริมการอ่านที่สร้างขึ้นสามารถเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดึงดูดใจของนักเรียนให้มีความอยากรู้ อยากเรียนด้วยหนังสือประเภทนี้ ดังนั้นครูผู้สอนควรพัฒนาการสร้างหนังสือส่งเสริมการอ่านให้มีความหลากหลายเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นสื่อนวัตกรรมให้นักเรียนได้ใช้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี
นักเรียนมีความพึงพอใจต่อประเด็นด้านหนังสือส่งเสริมการอ่านทำให้รู้และทราบผลการเรียนด้วยตนเอง มีระดับความพึงพอใจต่ำที่สุด อาจอธิบายได้ว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูด้วยการใช้หนังสือส่งเสริมการอ่านในครั้งนี้ ไม่สามารถทำให้นักเรียนได้ทราบถึงผลของการเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งนักเรียนอาจใช้ผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งได้พัฒนาการเรียนรู้ของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ครูผู้สอนควรให้ความสำคัญกับการออกแบบกิจกรรมในการเรียนรู้ที่ให้นักเรียนได้สามารถพัฒนาผล การเรียนรู้ของตนเองได้ด้วยการตรวจสอบและรับทราบถึงผลการเรียนรู้ในแต่ละครั้งได้อย่างเปิดเผย และสามารถวางแผนพัฒนาผลการเรียนรู้ของตนเองให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป