การพัฒนารูปแบบการนิเทศโดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์เพื่อแก้ปัญหา
การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
เทวา ตั้งวานิชกพงษ์*
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จากพระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2520 ความว่าการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนา ความรู้ ความคิด ความประพฤติ เจตคติ ค่านิยมและคุณธรรมของบุคคล เพื่อให้เป็นพลเมืองดี มีคุณภาพและประสิทธิภาพ การพัฒนาประเทศก็ย่อมทำได้สะดวกราบรื่นได้ผลที่แน่นอนรวดเร็ว ทรงพระราชทานเกี่ยวกับการศึกษาไว้ว่า การศึกษามีความหมาย 2 มิติคือ 1) เป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ 2) เป็นการพัฒนาบุคคลให้ผู้ศึกษามีความคิด ความประพฤติ เจตคติ ค่านิยมและคุณธรรม ส่งผลให้ประเทศต้องเร่งพัฒนาการจัดการศึกษา เพราะการศึกษาเป็นเรื่องของการพัฒนาประชากร เมื่อประชากรของประเทศมีคุณภาพสูงขึ้น ก็ย่อมจะสร้างสรรค์และพัฒนางานรวมทั้งสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆโดยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม
การพัฒนาความสามารถในการใช้ภาษาไทยของเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เนื่องจากสังคมโลกต้องมีการสื่อสาร การพัฒนาผู้เรียนให้สามารถอ่านออกเขียนได้จึงมีส่วนสำคัญเบื้องต้นที่จะช่วยให้สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากผลการศึกษาของกลุ่มงานศึกษานิเทศก์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ยังขาดทักษะการอ่านทั้งการอ่านออกเสียง และการอ่านในใจ อ่านเรื่องแล้วจับใจความสำคัญจากเรื่อง ที่อ่านไม่ได้ หรือจับใจความได้แต่ไม่ครอบคลุมเนื้อหา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และขาดนิสัยรักการอ่าน กล่าวคือปัญหาที่พบในเรื่องการอ่านการเขียนคือ 1) นักเรียนอ่านหนังสือไม่คล่อง อ่านตะกุกตะกักอ่านตู่ตัว คืออ่านผิดไม่ตรงกับคำที่เป็นจริง 2) นักเรียนไม่มีสมาธิในการอ่านโดยขณะอ่านจะให้ความสนใจกับสิ่งรอบข้างทำให้การอ่านขาดความต่อเนื่อง 3) นักเรียนอ่านเรื่องราวแล้วไม่เข้าใจความหมาย ไม่สามารถจับใจความสำคัญจากเรื่องที่อ่านได้ 4) นักเรียนขาดนิสัยรักการอ่าน โดยใช้เวลาในการอ่านแต่ละครั้งน้อยและไม่อ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ และ 5) นักเรียนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ซึ่งที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีร้อยละ 2.50
ผู้วิจัยในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานนิเทศ ติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนารูปแบบการนิเทศ เพื่อพัฒนาครูให้สามารถแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จึงมีความสนใจที่จะนำรูปแบบการนิเทศหรือการโค้ชทางปัญญา (Cognitive coaching) มาส่งเสริมให้ครูเกิดการร่วมมือกันทางวิชาชีพ ก่อให้เกิดชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ คือ Professional Learning Community (PLC) ร่วมกับการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) จึงก่อให้เกิดประโยชน์มากมายต่อการสอนของครู ไม่ว่าจะเป็นด้านเนื้อหาและวิธีการสอนและต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน ในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ตามขั้นตอนการนิเทศ 4 ระยะ สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช, 2545) และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่ตั้งไว้ อีกทั้งยังก่อประโยชน์ต่อการนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตของผู้เรียนและนำไปสู่การพัฒนาสังคมและประเทศชาติต่อไปในอนาคต
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหาและความต้องการ ในการแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
2. เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศโดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
3. เพื่อศึกษาผลของการใช้รูปแบบการนิเทศโดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่าน ไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
4. เพื่อประเมินและปรับปรุง การใช้รูปแบบการนิเทศโดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
ขอบเขตของการวิจัย
การพัฒนารูปแบบการนิเทศโดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตของการวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในขั้นการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ได้แก่
1.1 ประชากร
1.1.1 ผู้บริหารสถานศึกษา โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ผู้อำนวยการสถานศึกษา 19 คน รองผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 26 คน รวม 45 คน
1.1.2 หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 19 คน
1.1.3 ครูผู้สอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจำนวน 85 คน
1.1.4 นักเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 10,879 คน
1.15 ศึกษานิเทศก์สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 4 คน
1.2 กลุ่มตัวอย่าง
1.2.1 ตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษา ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 19 โรงเรียน
1.2.2 ตัวแทนครูภาษาไทยที่สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 18 คน เป็นครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
1.2.3 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจำนวน 18 โรงเรียน ที่ได้รับการคัดกรองเป็นนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน 150 คน
2. ตัวแปร
2.1 แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับรูปแบบการนิเทศ โดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์
2.2 สภาพปัจจุปันปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ในการแก้ปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของนักเรียน
2.3 แนวทางการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์
3. ระยะเวลา
การดำเนินการศึกษาในขั้นที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานการวิจัย ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2558 - 30 เมษายน 2558
ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการนิเทศ
1. ตัวแปร
ความเหมาะสมของรูปแบบการนิเทศ โดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์
2. ระยะเวลา
การดำเนินการศึกษาในขั้นที่ 2 การพัฒนารูปแบบการนิเทศ ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 - 31 พฤษภาคม 2558
ระยะที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการนิเทศ
1. กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาในขั้นการทดลองใช้รูปแบบ ในการวิจัย
ครั้งนี้ ได้แก่
1.1 กลุ่มตัวอย่าง
1.1.1 ตัวแทนครูภาษาไทยที่สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 18 คน เป็นครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจำนวน 19 โรงเรียน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
1.1.2 ตัวแทนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจำนวน 18 โรงเรียน ที่ได้รับการคัดกรองเป็นนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จำนวน 150 คน
1.1.3 ตัวแทนศึกษานิเทศก์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 คน
2. ตัวแปร
การแก้ปัญหาการอ่านออกเขียนได้
3. ระยะเวลา
การดำเนินการศึกษาในขั้นที่ 2 การทดลองใช้รูปแบบการนิเทศ ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2558 - 31 กรกฎาคม 2558
ระยะที่ 4 การประเมินรูปแบบการนิเทศ
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่
1.1 กลุ่มตัวอย่าง
1.1.1 ตัวแทนครูภาษาไทยที่สอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 19 คน เป็นครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจำนวน 19 โรงเรียน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)
1.1.2 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2558 ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจำนวน 19 โรงเรียน ที่ได้รับการคัดกรองเป็นนักเรียนที่มีปัญหาด้านการอ่านออกเขียน จำนวน 150 คน
1.1.3 ตัวแทนศึกษานิเทศก์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 คน
2. ตัวแปร
ความเหมาะสมของรูปแบบการนิเทศ โดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์
3. ระยะเวลา
การดำเนินการวิจัย ดำเนินการระหว่างมิถุนายน 2558 ถึงมีนาคม 2559 โดยแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 เป็นขั้นตอนของการดำเนินการสร้างและพัฒนารูปแบบการนิเทศการสอนประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน และขั้นตอนที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการนิเทศการสอน ดำเนินการระหว่างมิถุนายน 2558 ถึงกันยายน 2558
ระยะที่ 2 เป็นขั้นตอนของการดำเนินการนำรูปแบบการนิเทศการสอนไปใช้ในโรงเรียนกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 3 การนำรูปแบบการนิเทศการสอนไปใช้ และ ขั้นตอนที่ 4 การประเมินผลรูปแบบการนิเทศการสอน ดำเนินการระหว่างตุลาคม 2558 ถึงมีนาคม 2559
วิธีการดำเนินการวิจัย
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการนิเทศ โดยใช้เครือข่ายการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ เพื่อแก้ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ของโรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น มีขั้นตอนดำเนินการตามวิธีการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยมีขั้นตอนการดำเนินการ 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis) = Research : (R,) เป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน เกี่ยวกับสิ่งที่คาดหวังและสภาพจริงที่ปรากฏจาก นโยบายและเป้าหมาย การนิเทศการสอน การพัฒนาครู และการสอนภาษาไทยด้านการอ่านการเขียน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ศึกษา วิเคราะห์ แนวคิด ทฤษฎีและงานวิจัยเกี่ยวกับการนิเทศการสอน ชุมชนการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ Professional Learning Community (PLC) การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) การจัดการเรียนรู้ด้านการอ่านการเขียน และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และ สังเคราะห์ผลที่คาดหวังจากการใช้รูปแบบการนิเทศการสอน
ขั้นตอนที่ 2 การออกแบบและพัฒนารูปแบบการนิเทศการสอน (Design and Development) = Development : (D1) เป็นการออกแบบและพัฒนาควบคู่กันไปด้วยการนำผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ในขั้นที่ 1 มา ระบุเป้าหมาย ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์และเงื่อนไขในการใช้รูปแบบการนิเทศการสอนฯ ออกแบบรูปแบบการนิเทศการสอน (Design) และนำต้นแบบรูปแบบการนิเทศการสอนที่พัฒนาขึ้นตามหลักการแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องไปตรวจสอบความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎีและการนำไปปฏิบัติ โดยผู้เชี่ยวชาญ แล้วปรับปรุงแก้ไขรูปแบบเพื่อจะนำไปใช้
ขั้นตอนที่ 3 การนำรูปแบบการนิเทศการสอนไปใช้ (Implementation) = Research : (R2) เป็นการนำรูปแบบที่พัฒนาขึ้นในขั้นตอนที่ 2 ไปใช้ ตามแบบแผนการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) แบบกลุ่มตัวอย่างเดียว มีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (One-Group Pretest-Posttest Design) และแบบดุลยภาพเวลากลุ่มทดลองกลุ่มเดียวมีการเก็บคะแนนพัฒนาการต่อเนื่องตามช่วงเวลาที่กำหนด (Equivalent Time-Samples Design)
ขั้นที่ตอนที่ 4 การประเมินผลรูปแบบการนิเทศการสอน (Evaluation) = Development : (D2) เป็นขั้นการประเมินผลเพื่อยืนยันผลของการนำไปใช้จากครูกลุ่มตัวอย่างและผู้บริหารโรงเรียนสังเคราะห์ข้อมูลและปรับปรุงแบบการนิเทศการสอนให้เป็นรูปแบบที่สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น