ชื่อวิจัย รายงานผลการพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเขียน
โดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ตที่ส่งผลต่อความสามารถการเขียนเชิง
สร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาล
เมืองภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต
ผู้รายงาน นางสาวนรีรัตน์ ประสิทธิ์
ปีที่พัฒนา 2558
บทคัดย่อ
การพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเขียนโดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ตที่ส่งผลต่อความสามารถการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาลเมืองภูเก็ต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นการพัฒนาเชิงทดลอง (Experimental Research) แบบแผนการวิจัยหนึ่งกลุ่มสอบก่อนหลัง (One - Group Pretest - Posttest Design) โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของวิธีการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการเขียน โดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ตตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ก่อนและหลังเรียนโดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้นิทาน พื้นบ้านภูเก็ต
ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 179 คน กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558จำนวน 34 คน กลุ่มที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเขียนโดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต จำนวน 19 แผน 2) นิทานพื้นบ้านภูเก็ต จำนวน 30 เรื่อง 3) แบบฝึกทักษะเพื่อพัฒนาการเขียนโดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต จำนวน 43 แบบฝึก 4) แบบทดสอบวัดความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ จำนวน 2 ฉบับ 5) แบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้นิทาน พื้นบ้านภูเก็ต จำนวน 1 ฉบับ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติดังนี้ 1) หาค่าเฉลี่ย (x̄ ) และค่าร้อยละของคะแนนรวมของแบบฝึกทักษะและแบบทดสอบหลังเรียน เพื่อนำไปหาค่าประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะ (E1 / E2) 2) หาค่าเฉลี่ย (x̄) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ของคะแนนความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะแล้วนำมาเปรียบเทียบโดยใช้ t test 3) หาค่าเฉลี่ย (x̄ ) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ของคะแนนสอบถามความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต
ผลการวิเคราะห์พบว่า
1) ประสิทธิภาพของวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเขียนโดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต ที่ส่งผลต่อความสามารถการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน คือ (E / E ) เท่ากับ 89.56/81.91
2) ความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ก่อนและหลังเรียนโดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยหลังการใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต สูงกว่าก่อนการใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต
3) ความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้นิทานพื้นบ้านภูเก็ต โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากทุกด้าน คือ ด้านบรรยากาศการเรียนรู้ ด้านประโยชน์ที่ได้รับ และด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้