ชื่อเรื่อง การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้ศึกษา นายนิรุต สอนทอง
หน่วยงาน โรงเรียนบ้านท่ายม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2
ปีการศึกษา 2559
ประเภทผลงาน ผลงานวิชาการ
บทคัดย่อ
การพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ของการศึกษาเพื่อ (1) เพื่อพัฒนาหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้น (3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้น และ (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบ้านท่ายม อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 14 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ (1) หนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 5 เล่ม ใช้เวลาทดลอง 15 ชั่วโมง (2) แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 15 แผน รวม 15 ชั่วโมง (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.26 - 0.65 ค่าความยากตั้งแต่ 0.29 - 0.73 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.82 (4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่าน แบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ ค่าอำนาจจำแนกรายข้อตั้งแต่ 0.22 - 0.79 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาค้นคว้า พบว่า
1. หนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้รายงานพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 86.86/85.18 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ดัชนีประสิทธิผลของหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้รายงานพัฒนาขึ้น มีค่าเท่ากับ 0.75 หรือคิดเป็นร้อยละ 75
3. นักเรียนที่เรียนด้วยหนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้
4. นักเรียนที่เรียนโดยใช้หนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถม
ศึกษาปีที่ 6 ที่ผู้รายงานพัฒนาขึ้น โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด ค่าเฉลี่ยรวม 4.67
โดยสรุป หนังสือส่งเสริมการอ่าน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถนำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนแล้วทำให้นักเรียนพอใจ สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น ครูผู้สอนควรนำไปเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเนื้อหาอื่น ๆ และสาระการเรียนรู้อื่น ๆ ต่อไป