การเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ เกิดความตระหนักและสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำได้ การศึกษาครั้งนี้ มีความมุ่งหมาย (1) เพื่อพัฒนาบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพดีชีวีสดใส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 (2) เพื่อหาค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพดีชีวีสดใส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 (3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพดีชีวีสดใส (4) เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความคงทนในการเรียนรู้ของนักเรียนที่เรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพดีชีวีสดใส และ (5) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพดีชีวีสดใส กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนสารคามพิทยาคม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 50 คน โดยการเลือกแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา มี 3 ชนิด คือ 1) บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพดีชีวีสดใส จำนวน 4 หน่วย 2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยาก ตั้งแต่ 0.56 ถึง 0.80 ค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.33 ถึง 0.89 ค่าความเชื่อมั่น ทั้งฉบับเท่ากับ 0.90 และแบบสอบถามความพึงพอใจ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.89 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t – test (Dependent Samples) และ f-test (One – way ANCOVA) ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ผู้เชี่ยวชาญ เห็นว่า บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอนจากการสร้างโดยภาพรวมและรายด้านเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด รายด้านเรียงจากค่าเฉลี่ยมากไปหาน้อย คือ ด้านเนื้อหา ด้านการวัดผลและประเมินผล ด้านความสอดคล้องกับหลักสูตร ด้านรูปแบบการจัดกิจกรรม
การเรียนรู้ ด้านสื่อประกอบการใช้ และด้านนำเสนอเนื้อหา
2. บทเรียนคอมพิวเตอร์พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.00 / 82.83 และค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.74 ซึ่งแสดงว่า นักเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้นจากเดิมคิดเป็นร้อยละ 74
3. หลังจากการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ผ่านไปแล้ว 2 สัปดาห์ นักเรียนกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความคงทนน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยสามารถคงทนความรู้ได้ร้อยละ 85.11 ของคะแนน เฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน
4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยบทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่องพฤติกรรมสุขภาพดีชีวีสดใส อยู่ในระดับมากที่สุด
สรุป บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน เรื่อง พฤติกรรมสุขภาพดีชีวีสดใส สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถนำไปใช้เป็นสื่อในการเรียนการสอนให้นักเรียนบรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังได้