บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาแนวทางการบริหารแบบมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนท่าช้างวิทยาคม 2) ประเมินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนท่าช้างวิทยาคม โดยใช้รูปแบบจำลองซิปป์ (CIPP Model) และ 3) ศึกษาปัญหา อุปสรรค และแนวทางการดำเนินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนท่าช้างวิทยาคม ตามความคิดเห็นของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มตัวอย่างของการศึกษา จำนวน 266 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครู จำนวน 25 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน นักเรียน จำนวน 113 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 113 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แบบบันทึกการสนทนากลุ่มย่อย จำนวน 1 ฉบับ และแบบสอบถาม จำนวน 3 ฉบับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์เนื้อหา และสถิติ t-test
ผลการศึกษาพบว่า
1. แนวทางการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียน ท่าช้างวิทยาคม คือ บุคลากรที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการวางแผน การตัดสินใจ การปฏิบัติ การมีส่วนร่วมในผลประโยชน์ และการประเมินผล
2. การประเมินโครงการ โรงเรียนคุณธรรม ของโรงเรียนท่าช้างวิทยาคม พบว่า
2.1 ด้านบริบท ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
2.2 ด้านปัจจัยนำเข้า ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
2.3 ด้านกระบวนการ ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด และตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก
2.4 ด้านผลผลิต 1) ผลการดำเนินงาน ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน และผู้ปกครอง ในภาพรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก 2) ผลกระทบ พฤติกรรมด้านคุณธรรมของนักเรียนโรงเรียนท่าช้างวิทยาคมหลังดำเนินโครงการสูงกว่าก่อนดำเนินโครงการอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงว่านักเรียนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้ชุมชนยอมรับโรงเรียน โรงเรียนจึงได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณธรรมจากเทศบาลตำบลอรัญญิก นักเรียนได้รับทุนการศึกษาจากวัดต่าง ๆ ในชุมชน ผู้ปกครองพึงพอใจโรงเรียน ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือโรงเรียน สนับสนุนให้นักเรียน เข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมของโรงเรียนทุกครั้ง และเกิดเครือข่ายโรงเรียนคุณธรรมในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม
สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนา คือ ควรชี้แจงและประชาสัมพันธ์ให้บุคลากรในโรงเรียนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของโครงการ โดยให้ความรู้ความเข้าใจในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ เชิญชวนให้นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ประสานความร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ อย่างชัดเจน มีการบริหารเวลาอย่างเหมาะสม ตลอดจนสะท้อนผลการดำเนินงาน ปรับปรุง และแก้ไขวิธีการปฏิบัติงานเมื่อพบข้อบกพร่อง และพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามขั้นตอนหรือแผนปฏิบัติการที่วางไว้ หากมีการเปลี่ยนแปลงควรชี้แจงให้ทุกภาคส่วนรับรู้