ชื่อเรื่อง การพัฒนาการอ่านและการเขียนคำยาก โดยใช้แบบฝึกทักษะ ตามหนังสือเรียน
ภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางสาวณัชติกัญญ์ ไกยราช
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีความมุ่งหมาย 1) เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะพัฒนาการอ่านและการเขียนคำยาก กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างก่อนและหลังเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะพัฒนาการอ่านและการเขียนคำยาก ตามหนังสือเรียนภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ที่สร้างขึ้น 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะพัฒนาการอ่านและการเขียนคำยาก ตามหนังสือเรียนภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ที่สร้างขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนสื่อมวลชนกีฬาสมัครเล่นและดารา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบึงกาฬ จำนวน 29 คน เป็นการเลือก
แบบเจาะจง (Purposive Sampling) ในชั้นเรียนที่ผู้ศึกษาเป็นครูสอนประจำชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าประกอบด้วย 1) แบบฝึกทักษะพัฒนาการอ่านและการเขียนคำยากที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น จำนวน 15 ชุด 2) แผนการจัดการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 3 รวม 15 แผน เวลา 15 ชั่วโมง 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นแบบปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่ายตั้งแต่ .48 ถึง .65 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ .45 ถึง .70 ค่าความเชื่อมั่น .88 และ 4) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนต่อการเรียนรู้ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 15 ข้อ มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .98 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบค่าที (t-test)
แบบอิสระต่อกัน (Dependent Sample)
ผลการศึกษามีดังนี้
1. แบบฝึกทักษะพัฒนาการอ่านและการเขียนคำยาก ตามหนังสือเรียนภาษาไทย ชุด ภาษาเพื่อชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยนักเรียนสามารถทำคะแนนเฉลี่ยระหว่างเรียนได้ 127.31 คิดเป็นร้อยละ 84.87 และได้คะแนนเฉลี่ยหลังเรียน 25.86 คิดเป็นร้อยละ 86.20 ดังนั้น แบบฝึกทักษะที่สร้างขึ้นจึงมีประสิทธิภาพ 84.87/86.41
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะพัฒนาการอ่านและการเขียนคำยาก ที่สร้างขึ้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยนักเรียนทำคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนได้ 16.86 คิดเป็นร้อยละ 56.20 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 4.41 และได้คะแนนเฉลี่ยหลังเรียน 25.86 คิดเป็นร้อยละ 86.20 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2.74
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนรู้โดยใช้แบบฝึกทักษะพัฒนาการอ่านและการเขียนคำยาก ที่สร้างขึ้น มีความพึงพอใจต่อการเรียนอยู่ในระดับมากทุกข้อจากเกณฑ์การแปลผล 3 ระดับ คือ มาก ปานกลาง น้อย โดยมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจโดยรวม 2.89 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.89 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้