บทที่ 5
สรุป อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121) มีวัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อสร้างรูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล4(บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่121) โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ดังนี้1) เพื่อศึกษาสภาพ และปัญหาของการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121) 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121) และ 3) เพื่อประเมินรูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121) ซึ่งมีลำดับขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้
วิธีการดำเนินการวิจัย
ผู้วิจัยได้แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ดังนี้
ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพและปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน
ระยะที่ 2 การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน
ระยะที่ 3 การประเมินรูปแบบ
กลุ่มตัวอย่างและกลุ่มเป้าหมายของการวิจัย
กลุ่มตัวอย่าง เพื่อการเก็บข้อมูล ในระยะที่ 1 มีจำนวน 108 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครู จำนวน 10 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน
กลุ่มเป้าหมาย ที่เข้าร่วมวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะในระยะที่ 2 (ขั้นตอนที่ 1) จำนวน 7 คน ประกอบด้วย อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 4 คน ผู้อำนวยการสำนักการศึกษาจำนวน 1 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน ครูภาษาไทย จำนวน 1 คน
กลุ่มเป้าหมาย ที่เข้าร่วมการประเมินรูปแบบและให้ข้อเสนอแนะ เพื่อปรับปรุงรูปแบบในระยะที่ 3 มีจำนวน 9 คน ประกอบด้วย อาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 5 คน รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา จำนวน 1 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 1 คน ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน และครูบรรณารักษ์ จำนวน 1 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ระยะที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น มีลักษณะเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.82
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ระยะที่ 2 เป็นแบบสรุปผลการวิพากษ์และให้ข้อเสนอแนะ จากผู้ทรงคุณวุฒิ และแบบประเมินผลการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยการอ่าน ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ลักษณะเป็นแบบประเมินที่มีการกำหนดหัวเรื่องไว้ล่วงหน้า และมีปลายเปิดเพื่อใช้กรอกข้อมูลรายด้าน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ระยะที่ 3 เป็นแบบประเมินรูปแบบ ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เพื่อประเมินรูปแบบ มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นไปได้ และด้านความเป็นประโยชน์
สรุปผลการวิจัย
จากผลการศึกษาวิจัย สามารถสรุปผลได้ ดังนี้
1) ผลการศึกษาสภาพการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน พบว่า สภาพการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โดยภาพรวม มีการดำเนินการอยู่ในระดับ ปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านการจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด และด้านการพัฒนาบุคลากรด้านส่งเสริมการอ่าน มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
ส่วนระดับของปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โดยภาพรวม พบว่า มีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ก็พบว่า ด้านการจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ด้านการสร้างความตระหนักในการอ่านและด้านพัฒนาบุคลากรด้านส่งเสริมการอ่าน มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
2) ผลการพัฒนารูปแบบ จากการศึกษาวิจัยพบว่า รูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านมี 6 องค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) กลไกดำเนินการตามรูปแบบ 4) กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน 5) การประเมินรูปแบบ และ 6) เงื่อนไขความสำเร็จ โดยในส่วนของการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีทั้งหมด 6 กิจกรรมประกอบด้วย
(1) การสร้างความตระหนักในการอ่าน
(2) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ส่งเสริมการอ่าน
(3) การพัฒนาบุคลากรด้านการส่งเสริมการอ่าน
(4) การบูรณาการส่งเสริมการอ่าน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้
(5) การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
(6) การจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้
ผลการทดลองใช้รูปแบบ พบว่า เมื่อดำเนินกิจกรรมตามกลไกของรูปแบบอย่างต่อเนื่อง โดยมีครูกำกับ ติดตาม การดำเนินงาน ส่งผลให้นักเรียนมีคุณลักษณะ นิสัยในด้านการอ่านที่ดีขึ้น เป็นที่น่าพอใจ คือ นักเรียนอ่านมากขึ้น นักเรียนเห็นคุณค่าการอ่าน เข้าร่วมกิจกรรมการอ่าน อย่างมีความสุข และกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรม และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ด้วยการเข้าห้องสมุด และอ่านหนังสือตอนเช้าก่อนเข้าแถวหน้าเสาธง จากกิจกรรมห้องสมุดเคลื่อนที่
3) ผลการประเมินรูปแบบ จากผลการประเมินโดยผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ด้านความเหมาะสม ด้านความเป็นประโยชน์ และด้านความเป็นไปได้ ของรูปแบบโดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยด้านความเหมาะสม มากที่สุด รองลงมาคือ ด้านความเป็นประโยชน์ และด้านความเป็นไปได้
เมื่อพิจารณาผลการประเมินตามองค์ประกอบของการประเมินรายด้าน สรุปได้ ดังนี้ 1) ด้านความเหมาะสม พบว่า หลักการ และเงื่อนไขความสำเร็จของรูปแบบ มีความเหมาะสมมากที่สุด 2) ด้านความเป็นไปได้ และ 3) ความเป็นประโยชน์ พบว่า การประเมินผลของรูปแบบ มีความเป็นไปได้และความเป็นประโยชน์มากที่สุด
อภิปรายผลการวิจัย
จากการวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้นำประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากการศึกษา มาอภิปรายผล ดังนี้
1. สภาพและปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน จากผลการวิจัยที่พบว่า ด้านการจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ มีการดำเนินการและมีปัญหาอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของ ธวัชชัย มีประเสริฐ (2547:41) ที่ได้ศึกษา การส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พบว่า สภาพแวดล้อมในโรงเรียนมีส่วนสร้างเสริมความเจริญงอกงามทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคมของนักเรียนเป็นอยู่มาก เป็นที่พบปะปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและยังมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมพฤติกรรม ค่านิยม ทัศนคติ ปัญญา และสังคมของนักเรียน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะ ด้านสภาพแวดล้อมของโรงเรียนมีปัญหาอยู่ในระดับมาก เนื่องจากโรงเรียนต้องปรับปรุงสภาพแวดล้อมบ่อยครั้ง น้ำท่วมเกือบทุกปี ห้องสมุดมีสภาพไม่เหมาะกับการจูงใจให้อ่าน วัสดุอุปกรณ์ยังไม่ทันสมัย ซึ่งทางโรงเรียนต้องดำเนินการปรับปรุง และพัฒนาสถานที่สภาพแวดล้อมทั่วไป
จากสภาพและปัญหาของการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ผู้วิจัยยังได้ศึกษาในประเด็นย่อยขององค์ประกอบกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ซึ่งสามารถนำมาอภิปรายผลการวิจัย ได้ดังต่อไปนี้
1.1 ด้านการสร้างความตระหนักในการอ่าน
พบว่า สภาพการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการสร้างความตระหนักในการอ่าน มีการดำเนินการ ปานกลาง พบว่า การสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนเกิดความอยากอ่านหนังสือ มีการดำเนินการมากที่สุด และการส่งเสริมให้ครูจัดกระบวนการ โดยใช้กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีการดำเนินการน้อยที่สุด
ส่วนระดับของปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการสร้างความตระหนักในการอ่าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ก็พบว่า การส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีปัญหามากที่สุด และการที่ครู บุคลากร และนักเรียนเห็นคุณค่า คุณลักษณะรักการอ่าน มีปัญหาน้อยที่สุดซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย ของสังวาลย์ เยียว (2554:92 – 93) พบว่าในการกระตุ้น และปลูกฝังให้นักเรียน ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอ่านอย่างต่อเนื่อง มีการปฏิบัติอยู่ในระดับน้อย และมีปัญหาอยู่ในการปฏิบัติอยู่ในระดับมากและงานวิจัยของ ภิญโญ กันหา (2550 : 78) พบว่าในการดำเนินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ควรสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านแก่ผู้เกี่ยวข้อง และพัฒนาให้บุคลากรได้มีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า ต้องมีการเน้นย้ำ ให้ครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาเห็นสำคัญของการอ่าน เพราะพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 24 ว่าการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้สถานศึกษาดำเนินการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ยึดการปฏิบัติจริง ให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
1.2 ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือส่งเสริมการอ่าน
พบว่า สภาพการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือส่งเสริมการอ่าน มีการดำเนินการปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ผู้ปกครอง มีส่วนร่วมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน มีการดำเนินการมากที่สุด และหน่วยงานต้นสังกัดให้ความสำคัญกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีการดำเนินการน้อยที่สุด
ส่วนระดับของปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือส่งเสริมการอ่าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ก็พบว่า หน่วยงานต้นสังกัดให้ความสำคัญกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีปัญหามากที่สุด และการที่ครู บุคลากร และชุมชนมีส่วนร่วม มีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสังวาลย์ เยียว(2554 :93) ที่พบว่า แนวทางการสร้างความตระหนัก คือ ประชาสัมพันธ์ ให้ครู นักเรียน ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการอ่านได้ คือ อิทธิพลครอบครัว สังคมรอบตัวผู้อ่าน ทั้งนี้สถานศึกษามีนโยบายการบริหารที่ชัดเจน มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการอ่าน โดยขอความร่วมมือในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ในการประชุมครู ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา และการประชุมผู้ปกครอง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์โครงการ ขอความร่วมมือในการดำเนินการโครงการ และให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญในการอ่าน ครูมีการติดตามพฤติกรรมการอ่านของนักเรียนทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
1.3 ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านส่งเสริมการอ่าน
พบว่า สภาพการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านส่งเสริมการอ่าน มีการดำเนินการปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ครู บุคลากร มีความรู้ ความเข้าใจโดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีการดำเนินการมากที่สุด และหน่วยงานต้นสังกัดสนับสนุนงบประมาณพัฒนาบุคลากรด้านส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีการดำเนินการน้อยที่สุด
ส่วนระดับของปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการพัฒนาบุคลากรด้านส่งเสริมการอ่าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ก็พบว่า ครู บุคลากร มีความรู้ ความเข้าใจโดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีปัญหามากที่สุด และ ครู บุคลากร ร่วมงานนิทรรศการการอ่าน มีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของสังวาลย์ เยียว(2554:97) ที่ศึกษาแนวทางการพัฒนาเนื่องจากขีดจำกัดด้านทรัพยากรบุคคลของสถานศึกษา จึงจำเป็นที่จะต้องพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษาให้เป็นผู้ที่มีความรู้ และทักษะที่หลากหลายเพื่อรองรับหน้าที่ความรับผิดชอบที่อาจไม่ตรงตามสายงาน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโรงเรียนได้กำหนดครูรับผิดชอบ และสนับสนุนส่งเสริมให้ครูผู้ปฏิบัติหน้าที่บรรณารักษ์ห้องสมุด เข้ารับการอบรม สัมมนา และดูงานสถานศึกษาอื่น
1.4 ด้านการบูรณาการส่งเสริมการอ่านในกลุ่มสาระการเรียนรู้
พบว่า สภาพการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการบูรณาการส่งเสริมการอ่านในกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีการดำเนินการปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ส่งเสริมให้ครูจัดกระบวนการสอนโดยใช้กิจกรรมส่งเสริมการอ่านทุกกลุ่มสาระมีการดำเนินการมากที่สุด และจัดหลักสูตรเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีการดำเนินการน้อยที่สุด
ส่วนระดับของปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการบูรณาการส่งเสริมการอ่านในกลุ่มสาระการเรียนรู้ พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ก็พบว่า การส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนหาความรู้เพิ่มเติมจากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มีปัญหามากที่สุด และ การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโดยเน้นหลักบูรณาการมีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัย ของภคภรณ์ เกิดผล (2553:65) พบว่า แผนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมรักการอ่านของนักเรียน โดยคะแนนพฤติกรรมรักการอ่านโดยภาพรวมมีค่าเฉลี่ยร้อยละ 86.10 และพฤติกรรมรักการอ่านอยู่ในระดับดีมาก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะครูยังใช้วิธีการสอนแบบเดิมๆ ยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ ซึ่งทางโรงเรียนต้องกำหนดนโยบายให้บูรณาการการอ่านในการจัดการเรียนการสอนทุกกลุ่มสาระ ทุกชั้น
1.5 ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
พบว่า สภาพการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มีการดำเนินการปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า จัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่บ้าน มีการดำเนินการมากที่สุด และ จัดกิจกรรมที่พัฒนาคุณภาพการอ่าน มีการดำเนินการน้อยที่สุด
ส่วนระดับของปัญหาการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ก็พบว่า จัดให้นักเรียนคิดวิเคราะห์รวบรวมความรู้โดยจัดทำบันทึกการอ่าน มีปัญหามากที่สุด และการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน มีปัญหาน้อยที่สุดซึ่งตรงกับงานวิจัยของ พวงเพชร บงบุตร (2549:59) สรุปได้ว่า นักเรียนจะมีนิสัยรักการอ่านนั้น จำเป็นต้องการอาศัยการจัดกิจกรรมหลายๆ รูปแบบ และอาศัยความร่วมมือจากทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งนี้อาจเป็นเพราะโรงเรียนจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านทำให้นักเรียนมีความสุข มีการสำรวจความต้องการหนังสือของผู้เรียน โรงเรียนมีการกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านหลากหลาย ซึ่งตรงกับความต้องการของนักเรียน กิจกรรมส่งเสริมการอ่านมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน
1.6 ด้านการจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้
พบว่า สภาพการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการการจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ มีการดำเนินการปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า จัดแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน มีการดำเนินการมากที่สุด และ จัดห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต มีการดำเนินการน้อยที่สุด
ส่วนระดับของปัญหาการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ด้านการจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้ พบว่า อยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ก็พบว่า จัดห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต มีปัญหามากที่สุด และ จัดแหล่งเรียนรู้ในห้องเรียนที่เอื้อต่อการอ่าน มีปัญหาน้อยที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ จินตนา เพ็งรักษา (2544:50) พบว่า นักเรียนมีความเห็นว่าห้องสมุดโรงเรียนมีประโยชน์อยู่ในระดับมาก ในการใช้เพื่อการเรียนการสอน งานวิจัยของ เลิศ วีระสวัสดิ์ (2546:48) พบว่า การพัฒนาห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้นั้น ห้องสมุดโรงเรียนต้องจัดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยการจัดหาหนังสือใหม่ รณรงค์ให้ครูและนักเรียนเข้าใช้ทรัพยากรของห้องสมุด จัดมุมชิ้นงานดีเด่นไว้เพื่อการเรียนรู้ และจัดหาสื่ออิเล็กทรอนิกส์ช่วยในการค้นคว้า และงานวิจัยของ ธวัชชัย มีประเสริฐ (2547:41) ได้ศึกษาการส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียน พบว่า สภาพแวดล้อมในโรงเรียนมีส่วนสร้างเสริมความเจริญงอกงามทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคมของนักเรียนเป็นอยู่มาก เป็นที่พบปะปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันและยังมีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมพฤติกรรม ค่านิยม ทัศนคติ ปัญญา และสังคมของนักเรียน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะห้องสมุดโรงเรียนยังต้องได้รับการพัฒนาและปรับสภาพแวดล้อม เพื่อสร้างแรงจูงใจการอ่านให้เกิดขึ้นกับนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา โดยโรงเรียนต้องจัดสรรงบประมาณพัฒนาห้องสมุดให้เพียงพอ และปรับปรุงแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน ให้สร้างแรงจูงใจในการอ่านแก่นักเรียน
2. การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121) จากผลการวิจัย พบว่า รูปแบบมีองค์ประกอบ 6 องค์ประกอบ ดังนี้ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กลไกการดำเนินงาน 4) กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน 5) การประเมินผล และ 6) เงื่อนไขความสำเร็จ
นอกจากนี้ ในส่วนของกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน มี 6 กิจกรรม ได้แก่ 1) การสร้างความตระหนักในการอ่าน 2) การสร้างเครือข่ายความร่วมมือ ส่งเสริมการอ่าน 3) การพัฒนาบุคลากรด้านการส่งเสริมการอ่าน 4) การบูรณาการส่งเสริมการอ่านในกลุ่มสาระการเรียนรู้ 5) การจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน และ6) การจัดสภาพแวดล้อมและแหล่งเรียนรู้
จากผลการศึกษานี้ สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยของ สุเทพ สื่อกลาง (2547 : 83-84) ที่ทำการศึกษาวิจัย การพัฒนาการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการอ่านของนักเรียนโรงเรียนบ้านซับเจริญสุข อำเภอซับใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพบว่า ได้จัดกิจกรรม 5 กิจกรรม เพื่อส่งเสริมการอ่าน ประกอบด้วย กิจกรรมเสียงตามสาย กิจกรรมยอดนักอ่าน กิจกรรมการโต้วาที กิจกรรมแข่งขันเกี่ยวกับหนังสือกิจกรรมหนังสือยืมเรียน ที่ดำเนินการแล้วพบว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ นักเรียนมีความสนใจเข้าร่วม และผลการวิจัยนี้ ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาของสุทัศน์ ธิยานันท์ (2550 : 74 – 75) ที่ได้ศึกษาการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านพลำ พบว่า ได้กำหนดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หลากหลายกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมภาษาไทยวันละคำ กิจกรรมเล่าข่าวเหตุการณ์ประจำวัน กิจกรรมส่งเสริมการใช้ห้องสมุด และกิจกรรมประกวดคำขวัญเนื่องในวันสำคัญต่างๆ ซึ่งจัดโดยครูผู้รับผิดชอบห้องสมุด นักเรียนมีความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่โรงเรียนจัดขึ้น
นอกจากที่นำเสนอข้างต้นแล้ว ผลการวิจัยครั้งนี้ ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาวิจัยของบุญช่วย สายราม (2552 : 115) ที่ทำการศึกษา เรื่อง การพัฒนาการดำเนินงาน การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน โรงเรียนบ้านหนองทัพ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โดยการใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการ ซึ่งพบว่า มีการนำกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลาย มาพัฒนาผู้เรียน ประกอบด้วย กิจกรรมยอดนักอ่านโบว์แดง กิจกรรมเล่านิทานมหาสนุก กิจกรรมนักข่าวรุ่นเยาว์ กิจกรรมยืมหนังสือกลับบ้าน ซึ่งแต่ละกิจกรรมส่งผลให้นักเรียนมีความสนใจการอ่าน เห็นความสำคัญของการอ่าน และมีการพยายามพัฒนาการอ่านของตนเองอย่างต่อเนื่องจนมีนิสัยรักการอ่าน
3. การประเมินรูปแบบ การส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ซึ่งนำเสนอผลการวิจัย ได้ดังนี้
1) ด้านหลักการที่มีความเหมาะสมมากที่สุด สอดคล้องกับ ธีระ รุญเจริญ และ วาสนา ศรีไพโรจน์ (2554 : 124–125) ที่กล่าวว่า ในการบริหารสถานศึกษาขนาดเล็ก อาศัยกลยุทธ์การสร้าง การมีส่วนร่วมจากทุกคนทุกฝ่ายในการจัดการศึกษาทั้งในและนอกโรงเรียน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชนสร้างความมั่นใจกับผู้เกี่ยวข้อง และสถานศึกษาต้องอาศัยหลักการมีส่วนร่วมน่าจะประสานหลายฝ่าย เช่น ผู้ปกครอง สังคม สื่อมวลชน ชุมชน และครูอาจารย์จากสถานศึกษาทั้งนี้เป็นเพราะ หลักการมีส่วนร่วม หลักการต่อเนื่องและยั่งยืน หลักการบริหารใช้โรงเรียนเป็นฐาน และหลักการบริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถนำมาบริหารจัดการในโรงเรียน เพื่อส่งเสริมรูปแบบการสร้างนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
2) ด้านวัตถุประสงค์ของรูปแบบ ซึ่งผลการวิจัย พบว่า มีความเหมาะสม และมีประโยชน์มากที่สุด เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ซึ่งตรงกับสถาบันภาษาไทย (2548 : 65–68)กล่าวถึงบทบาทโรงเรียน (School)โดยผู้บริหารโรงเรียน ครู และบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียน และบุคลากรในโรงเรียน ควรร่วมมือกันกำหนดนโยบายบริหารจัดการในโรงเรียน เพื่อหาแนวทางในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้เกิดขึ้นกับนักเรียนอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน จะเห็นได้ว่า โรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญรองลงมาจากครองครัว ที่จะต้องให้ความรัก ความอบอุ่นเหมือนบ้าน เสริมสร้างความสนใจในการอ่าน โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสริมสร้างนิสัยรักการอ่าน ตลอดจนสร้างความสามารถในการอ่านให้กับเด็กอีกด้วย ผู้บริหารโรงเรียนควรเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในเรื่องการอ่าน เพราะนิสัยรักการอ่านนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จำเป็นต้องอาศัยการปลูกฝัง การกระตุ้น และการส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนมีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ที่จะดำเนินการในโรงเรียน เพื่อให้ผู้เรียนเป็นนักอ่าน และอ่านได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นิสัยรักการอ่าน คือ พฤติกรรมถาวรที่ควรจะติดอยู่ในตัวนักเรียน ซึ่งจะทำให้กลายเป็นบุคคลแห่งการอ่าน
3.) ด้านกลไกการดำเนินการ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า กลไกการดำเนินการมีความเป็นไปได้และมีความเป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับ สังวาลย์ เยียว (2554:90) ได้เสนอในงานวิจัยว่า สถานศึกษาต้องมีนโยบายบริหารส่งเสริมการอ่านที่ชัดเจน โดยประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการอ่าน ประชุมและย้ำความร่วมมือของบุคลากรทุกฝ่าย กลไกการดำเนินการที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ แต่งตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบ เพราะ โครงการและกิจกรรม สถานศึกษาต้องกำหนดให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนสามารถติดตามงานได้ สถานศึกษาควรจัดแผนงาน โครงการ และปฏิทินงานการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยกำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรมอย่างชัดเจน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าโรงเรียนมีการกำหนดนโยบายชัดเจนปฏิบัติได้ เพราะนโยบายที่ชัดเจนปฏิบัติได้ เป็นแนวทางในการดำเนินงานได้ถูกทิศทาง ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ผู้บริหารต้องกำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติให้ชัดเจนทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า โรงเรียนมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้ มีแนวทางการดำเนินงานได้ถูกทิศทางทำให้บรรลุวัตถุประสงค์
4) ด้านการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ซึ่งผลการวิจัยพบว่ามีความเหมาะสมและมีความเป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุมาลี คลังแสง (2555 : 55) การส่งเสริมการอ่านจะต้องทำในรูปแบบการจัดกิจกรรม เพื่อให้ผู้อ่าน อ่านจริงจัง เมื่อผู้อ่านได้อ่านหนังสือด้วยตนเอง ก็จะเกิดความสนใจในการอ่าน และอยากอ่านต่อไปจนเกิดนิสัยรักการอ่าน กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่หลากหลายชวนให้ตดตาม มีบรรยากาศที่เหมาะสม กับการศึกษาค้นคว้า ครูเป็นบุคคลสำคัญในการจัดกิจกรรมให้บรรลุไปด้วยดี และสามารถพัฒนาการอ่านของนักเรียนให้ดีขึ้นมาตรการที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ จัดแผนดำเนินการอย่างชัดเจน ติดตามผลอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าสถานศึกษาจัดแผนดำเนินการอย่างชัดเจนมีผู้รับผิดชอบ มีกระบวนการกำกับ ติดตาม และประเมินผลที่ดี จะส่งผลให้โครงการ และกิจกรรมบรรลุวัตถุประสงค์
และยังสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยของ สุเทพ สื่อกลาง (2547 : 83-84) ซึ่งพบว่า ได้จัดกิจกรรม 5 กิจกรรม เพื่อส่งเสริมการอ่าน เมื่อดำเนินการแล้วพบว่า ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ นักเรียนมีความสนใจเข้าร่วม และผลการวิจัยนี้ ตรงกับผลการศึกษาของสุทัศน์ ธิยานันท์ (2550 : 74 – 75) ที่ได้ศึกษาการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านพลำ พบว่า ได้กำหนดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน หลากหลายกิจกรรม แล้วนักเรียนมีความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่โรงเรียนจัดขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะโรงเรียนได้กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านที่หลากหลายจะสร้างแรงจูงใจในการอ่านให้เกิดขึ้น ครูกำกับ ติดตาม พฤติกรรมการอ่านของนักเรียน กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านเกิดขึ้นจากความต้องการของผู้เรียน เช่น มีแบบสำรวจประเภทหนังสือที่ผู้เรียนต้องการอ่าน มีแบบสังเกตพฤติกรรมการอ่านของนักเรียน มีแบบสังเกตพฤติกรรมเข้าร่วมกิจกรรม นักเรียนเต็มใจและมีความสุขในการเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
5) ด้านการประเมินผล ผลการวิจัยพบว่า มีความเป็นไปได้ และ มีประโยชน์มากที่สุด สอดคล้องกับ ธีระ รุญเจริญ และวาสนา ศรีไพโรจน์ (2554 : 82-83 ) ที่ได้กล่าวถึง การบริหารจัดการสถานศึกษาสำคัญที่สุด คือ การประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ต้องประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียน ประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า โรงเรียนสามารถประเมินพฤติกรรมนิสัยรักการอ่านของผู้เรียน ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้แบบสังเกต แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการอ่านของผู้เรียนรวมถึงแบบประเมิน การอ่าน เขียน คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ของผู้เรียน
6) ด้านเงื่อนไขความสำเร็จ ผลการวิจัยพบว่า มีความเหมาะสมมาก สอดคล้องกับสังวาลย์ เยียว (2554 : 90) ที่พบว่า สถานศึกษาต้องมีนโยบายส่งเสริมการอ่านที่ชัดเจน โดยประชาสัมพันธ์ให้นักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษาเห็นความสำคัญของการอ่าน ประชุมและย้ำขอความร่วมมือของบุคลากรทุกฝ่าย และยังซึ่งสอดคล้องกับพระธรรมปิฎก (2544 : 2–3) กล่าวว่า การที่จะเป็นผู้นำทางการศึกษาต้องมีการพัฒนาตนเองทางวิชาการอยู่ตลอดเวลา และเป็นผู้ตามที่ดีในบางโอกาส โดยเฉพาะต้องมีการสร้างเครือข่ายร่วมกันในพัฒนาคุณภาพ การศึกษาทั้งบุคคล องค์กร และผู้เกี่ยวข้องจึงจะพัฒนาการศึกษาได้ ทั้งนี้เป็นเพราะสถานศึกษาได้กำหนดนโยบาย และแนวปฏิบัติได้ชัดเจน เพราะนโยบายที่ชัดเจน จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน
ดังนั้น จากประเด็นที่นำมาอภิปรายผลจำเป็นต้องดำเนินการตามรูปแบบส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121) ตั้งแต่หลักการของรูปแบบ วัตถุประสงค์ของรูปแบบ กลไกในการดำเนินการ วิธีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน การประเมินผล และเงื่อนไขความสำเร็จ จึงจะทำให้การนำรูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121) ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ข้อเสนอแนะการวิจัย
1.ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้ประโยชน์
1.1 จากผลวิจัยพบว่า การประเมินรูปแบบ มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์อยู่ในระดับมากที่สุด นั่นแสดงว่ารูปแบบการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 4 (บ้านโนนสำนักมิตรภาพที่ 121) มีคุณภาพอยู่ในระดับสูง ผู้บริหารทุกระดับ และผู้เกี่ยวข้อง สามารถประยุกต์ใช้ในโรงเรียนหรือสถานศึกษาของตนเองได้ ประยุกต์ใช้ในการพัฒนา การอ่าน
1.2 ผลการพัฒนารูปแบบพบว่ามีกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน 6 กิจกรรม ประสบความสำเร็จ ครูผู้สอนสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับนักเรียนที่ตนเองรับผิดชอบได้ ผู้บริหารสามารถนำไปเป็นข้อมูล เพื่อกำหนดนโยบายส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
2.ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 จากผลการวิจัยกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน 6 กิจกรรม ควรวิจัยต่อไปว่า กิจกรรมใดที่ส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและพัฒนาความสามารถของการอ่าน ของผู้เรียนได้มากที่สุด กิจกรรมใดที่มีประสิทธิภาพต่อความสำเร็จของการส่งเสริมการอ่าน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถเลือกกิจกรรมพัฒนานิสัยรักการอ่านของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม
2.2 ควรทำการวิจัยต่อยอดจากผลการวิจัย ว่ากิจกรรมแต่ละอย่างเหมาะกับผู้เรียนระดับชั้นใดหรือนักเรียนที่มีคุณลักษณะอย่างไร เพื่อนำผลการวิจัยมาจัดผลกิจกรรมให้สอดคล้องและตอบสนองกับความพร้อม และความต้องการนักเรียนเป็นรายบุคคลได้