บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินหลักสูตรโรงเรียนห้วยเม็กวิทยาคม พุทธศักราช 2553 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยใช้รูปแบบ
การประเมินตามแนวคิดการวิเคราะห์เชิงระบบ ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบผสมผสานเกี่ยวกับปัจจัยนำเข้ากระบวนการและผลผลิตของหลักสูตร แหล่งข้อมูลประกอบด้วยหลักสูตร แผนการจัด
การเรียนรู้ แบบบันทึกประวัติบุคลากร แบบสรุปผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายงานโครงการ
รายงานการติดตามการใช้หลักสูตร ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักสูตร จำนวน 5 คน คณะกรรมการบริหารหลักสูตรและงานวิชาการ และครูผู้สอน จำนวน 58 คน และผู้เรียน ซึ่งได้มาด้วยวิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้นโดยใช้ระดับชั้นเรียนเป็นชั้นภูมิ จำนวน 289 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถาม การสนทนา การสัมภาษณ์ การศึกษาเอกสาร วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า
1. ด้านปัจจัยนำเข้า ในด้านองค์ประกอบภายในของหลักสูตรพบว่ามีความสอดคล้องกัน
อย่างต่อเนื่องของวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมายของหลักสูตร คุณภาพผู้เรียน โครงสร้างของหลักสูตร มาตรฐานการเรียนรู้ ผลการเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ คำอธิบายรายวิชา หน่วยการเรียนรู้
แต่การวัดและประเมินผลไม่สอดคล้องและไม่สะท้อนมาตรฐานการเรียนรู้ ด้านคุณลักษณะของครู พบว่าครูมีวุฒิการศึกษาปริญญาตรี สอนตรงวิชาเอก/โท/ความถนัด ครูสามารถวิเคราะห์หลักสูตร จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ วัดและประเมินผลด้วยวิธีการที่หลากหลาย และครูทุกคนมีจรรยาบรรณในวิชาชีพครูผ่านเกณฑ์การประเมิน ด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินการพบว่ามีวัสดุอุปกรณ์ สื่อการสอน/ตำราเรียน และมีงบประมาณใช้ผ่านเกณฑ์การประเมิน แต่ยังขาดห้องเรียนและห้องปฏิบัติการ พบปัญหา/อุปสรรคของปัจจัยนำเข้าคือเนื้อหาสาระแน่นและซ้ำซ้อนกันในระดับชั้นปี และครูบันทึกผลหลังการจัดการเรียนรู้ไม่ชัดเจน
2. ด้านกระบวนการ ในการพัฒนาหลักสูตรพบว่ามีการศึกษาข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาหลักสูตรผ่านเกณฑ์การประเมิน ส่วนการร่างหลักสูตรให้สอดคล้องกับข้อมูลพื้นฐานและคุณภาพของผู้เรียน การนำหลักสูตรไปใช้ และการประเมินหลักสูตรเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมีการปฏิบัติ
ไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ด้านการบริหารหลักสูตรพบว่ามีการวางแผนและดำเนินการบริหารงานวิชาการ บริหารทั่วไปที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาบุคลากรผ่านเกณฑ์การประเมิน ส่วนการนิเทศกำกับติดตามปฏิบัติไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ด้านการจัดการเรียนการสอนพบว่าให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนและมีปฏิสัมพันธ์ในเชิงบวก โดยครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ผ่านเกณฑ์การประเมิน ให้ผู้เรียนใช้กระบวนการเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่และนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และครูมีการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ด้านการวัดและประเมินผลพบว่ามีการวัดและประเมินผลระหว่างการเรียนการสอนด้วยวิธีการที่หลากหลายมากกว่า 3 วิธีการต่อ 1 แผนการจัดการเรียนรู้ผ่านเกณฑ์การประเมิน คุณภาพของชิ้นงานและการใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนไม่ผ่านเกณฑ์การประเมิน พบปัญหา/อุปสรรคของกระบวนการคือครูไม่มีความรู้เรื่องการพัฒนาหลักสูตรอย่างแท้จริง และขาดการนิเทศกำกับติดตามเรื่องหลักสูตรและการสอน
3. ด้านผลผลิต ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านผลการเรียนรู้มีค่าเฉลี่ย 2.97 คิดเป็นร้อยละ 74.25 ไม่ผ่านเกณฑ์เป้าหมาย และผู้เรียนร้อยละ 97.13 และ 97.18 ผ่านเกณฑ์การประเมินด้านการอ่านคิด วิเคราะห์ เขียนสื่อความ และด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ในระดับดีขึ้นไป ตามลำดับ พบปัญหา/อุปสรรคของผลผลิตของหลักสูตรคือครูใช้วิธีสอนแบบบรรยายเป็นส่วนใหญ่เพราะกลัวว่าสอนไม่จบตามเนื้อหาของหลักสูตร เป็นเหตุให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ไม่คงทน