บทคัดย่อ
ชื่องานวิจัย การพัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ชุดกิจกรรมบทอาขยาน
ชื่อ – สกุล นางสาวนิตยา ชูดำ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ ภาษาไทย
ปีที่วิจัย 2558
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) หาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการพัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ชุดกิจกรรมบทอาขยาน ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เปรียบเทียบความสามารถการอ่านคิดวิเคราะห์ ภาษาไทยของนักเรียน ก่อนและหลังได้รับการสอน โดยใช้ชุดกิจกรรม 3) เปรียบเทียบความสามารถการเขียนสื่อความ ภาษาไทยของนักเรียนก่อนและหลังได้รับการสอน โดยใช้ชุดฝึกทักษะ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อชุดกิจกรรมกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนบ้านขัน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุงเขต 1 จำนวน 24 คน แบบเจาะจง เครื่องมือในการวิจัยมี 1) ชุดกิจกรรม พัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ จำนวน 6 ชุด ประกอบด้วย ชุดที่ 1 การอ่านคิดวิเคราะห์ แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก การเขียนสื่อความบทอาขยาน “ผู้ชนะ” แบบฝึกทักษะ 10 แบบฝึก ชุดที่ 2 การอ่านคิดวิเคราะห์ แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก การเขียนสื่อความบทอาขยาน “เป็นมนุษย์หรือเป็นคน” แบบฝึกทักษะ 10 แบบฝึก ชุดที่ 3 การอ่านคิดวิเคราะห์ แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก การเขียนสื่อความบทอาขยาน “อิศรญาณภาษิต” แบบฝึกทักษะ 10 แบบฝึก ชุดที่ 4 การอ่านคิดวิเคราะห์ แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก การเขียนสื่อความบทอาขยาน “โคลงโลกนิติ” แบบฝึกทักษะ 10 แบบฝึก ชุดที่ 5 การอ่านคิดวิเคราะห์ แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก การเขียนสื่อความบทอาขยาน “วัฒนธรรม” แบบฝึกทักษะ 10 แบบฝึก ชุดที่ 6 การอ่านคิดวิเคราะห์ แบบปรนัย ชนิด 4 ตัวเลือก การเขียนสื่อความบทอาขยาน “บุพการี” แบบฝึกทักษะ 10 แบบฝึก 2) แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้ชุดกิจกรรมการอ่านคิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความบทอาขยาน จำนวน 30 แผน 31 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 วัน เวลา 15.30 – 16.30 น. ทุกแผนการจัดการเรียนรู้มีค่าดัชนีความสอดคล้อง เท่ากับ 1.00 3) แบบทดสอบวัดผลความสามารถด้านการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ จำนวน 45 ข้อ แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ 1) แบบทดสอบปรนัย จำนวน 25 ข้อ 25 คะแนน 2) แบบทดสอบเลือกตอบแต่ละกลุ่มสัมพันธ์ จำนวน 11 ข้อ 35 คะแนน 3) แบบทดสอบอัตนัย(เขียนตอบ) 9 ข้อ 40 คะแนน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ย (x̄) ของคะแนนเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าประสิทธิภาพ E1/E2 และค่า t-tet
ผลการวิจัยพบว่า
1. ชุดกิจกรรมพัฒนาความสามารถในการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความภาษาไทยสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยใช้ชุดกิจกรรมบทอาขยาน มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 83.79/82.12
2. ความสามารถด้านการอ่านคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมร่วมกับบทอาขยานหลังการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยทางสถิติระดับ .01
3. ความสามารถด้านการเขียนสื่อความของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดกิจกรรมร่วมกับบทอาขยานหลังการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยทางสถิติระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนภาษาไทย โดยใช้ชุดกิจกรรมร่วมกับบทอาขยานอยู่ในระดับมากที่สุด