ชื่อเรื่อง การพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม
วิชานาฏศิลป์ ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางอุษามณี จันเติบ
ปีที่ศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาของการจัดการเรียนการสอนรายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 2) เพื่อสร้างและพัฒนาเอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย
ศ 16201 ชั้นประถมศึกษา ปีที่ 6 และ 3) เพื่อทดลองใช้เอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/1 โรงเรียนบ้านปะทัดบุวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 14 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์นักเรียนเกี่ยวกับสภาพปัญหาของการจัดการเรียนการสอนรายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6เอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สูตรในการคำนวณหาประสิทธิภาพ สูตรในการคำนวณหาดัชนีประสิทธิผล และการทดสอบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยก่อนเรียนกับหลังเรียนโดยใช้การทดสอบทีแบบกลุ่มไม่อิสระ
ผลการศึกษาพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์สภาพปัญหาของการจัดการเรียนรู้รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า นักเรียนที่เรียนรายวิชาเพิ่มเติม
วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีผลการเรียนระดับดีขึ้นไปต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 80 ที่กำหนดไว้ โดยนักเรียนส่วนใหญ่จะมีผลการทดสอบภาคปฏิบัติต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้เกิดจากสาเหตุที่สำคัญ คือ การขาดสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม นักเรียนเขินอายไม่กล้าแสดงออก ขาดการเรียนรู้แบบช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกันเอง และข้อจำกัดด้านระยะเวลา
2. เอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่พัฒนาขึ้นเป็นเอกสารที่เน้นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งให้เน้นนักเรียน
ได้เรียนรู้เกี่ยวกับนาฏศิลป์ไทย โดยมุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เห็นคุณค่า ซาบซึ้งในนาฏศิลป์ไทย และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์โดยสามารถปฏิบัติท่ารำนาฏศิลป์ไทยได้ เนื้อหาภายในเอกสารประกอบการเรียนการสอนประกอบด้วยเนื้อหาย่อยจำนวน 8 หน่วย โดยเรียงลำดับจากง่ายไปยาก คือ บทที่ 1 นาฏศิลป์ไทย บทที่ 2 ระบำ รำ ฟ้อน และเซิ้ง บทที่ 3 นาฏยศัพท์ บทที่ 4 ภาษาท่าทางนาฏศิลป์ บทที่ 5 รำวงมาตรฐาน บทที่ 6 ฟ้อนเงี้ยว บทที่ 7 เซิ้งกระติบข้าว และ บทที่ 8 รำเชิญพระขวัญ โดยแต่ละบทจะดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยมีขั้นตอนสำคัญคือ นักเรียนศึกษาเนื้อหาโดยอาศัยการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ ทั้งรายบุคคลและ
แบบกลุ่ม เน้นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่มโดยนักเรียนที่เก่งหรือปฏิบัติได้ช่วยเหลือนักเรียนที่ปฏิบัติไม่ได้ ทำให้นักเรียนเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างมีความสุข และเต็มตามศักยภาพของแต่ละบุคคล โดยผลการพิจารณาคุณภาพของเอกสารประกอบการเรียนการสอนโดยผู้เชี่ยวชาญโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.56 S.D. = 0.49) และผลการหาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียนการสอนก่อนนำไปทดลองใช้กับกลุ่มเป้าหมายมีค่าเท่ากับ 86.26/84.74 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้
3. ผลการทดลองใช้เอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พบว่า
3.1 เอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีประสิทธิภาพเท่ากับ 91.49/93.81 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80
ที่ตั้งไว้
3.2 เอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.8921 แสดงว่า นักเรียนมีก้าวหน้าในการเรียนหลังเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการสอน รายวิชาเพิ่มเติม
วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มขึ้นร้อยละ 89.21
3.3 นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน
การสอน รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
3.4 นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนการสอน
รายวิชาเพิ่มเติม วิชานาฏศิลป์ไทย ศ 16201 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.70 S.D. = 0.47)