ชื่อเรื่อง รูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมแบบยั่งยืนของนักเรียน
โรงเรียนสระยายโสมวิทยา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 9
ผู้วิจัย นายศรายุทธ รัตนปัญญา ผู้อำนวยการโรงเรียนสระยายโสมวิทยา
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 9
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมแบบยั่งยืน ของนักเรียนโรงเรียนสระยายโสมวิทยา 2) ประเมินผลการตรวจสอบความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์ของรูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมแบบยั่งยืนของนักเรียนโรงเรียนสระยายโสมวิทยา และ 3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมแบบยั่งยืนของนักเรียนโรงเรียนสระยายโสมวิทยา กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนสระยายโสมวิทยา จำนวน 244 คน และผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนสระยายโสมวิทยา จำนวน 244 คน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการเปรียบเทียบพฤติกรรมนักเรียนก่อนและหลังการใช้รูปแบบฯ ด้วยการทดสอบค่าที
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการบริหารสถานศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมแบบยั่งยืน ของนักเรียนโรงเรียนสระยายโสมวิทยา มี 4 องค์ประกอบ คือ 1) ความร่วมมือของเครือข่ายภายนอก 2) ปัจจัยนำเข้า ได้แก่ การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์การพัฒนา สร้างทีมงาน บูรณาการแผนการจัดการเรียนรู้ วางแผนกำหนดกิจกรรการพัฒนา นิเทศกำกับติดตาม จัดหาหลักฐานแสดงความก้าวหน้า 3) กระบวนการ ได้แก่ การบูรณาการหลักไตรสิกขาและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมเพื่อความยั่งยืน 4) ผลผลิต ได้แก่ นักเรียนใช้ชีวิตอย่างพอเพียง กิน อยู่ ดู ฟัง อย่างมีสติ มีเหตุผลในการใช้ชีวิต มีวินัยความรับผิดชอบและจิตสาธารณะ และรู้จักปรับตัวรับปัญหาและแก้ไขอย่างชาญฉลาด
2. ผลการประเมินรูปแบบฯ มีความเหมาะสม ความเป็นไปได้ ความเป็นประโยชน์ในระดับ มากที่สุด
3. รูปแบบฯ ส่งผลให้นักเรียนมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีวินัยความรับผิดชอบ และ
จิตสาธารณะ กิน อยู่ ดู ฟัง อย่างมีสติ อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนนักเรียนมีเหตุผลในการใช้ชีวิต และรู้จักปรับตัวรับปัญหาและแก้ไขอย่างชาญฉลาด มีพฤติกรรมอยู่ในระดับมาก และพฤติกรรมนักเรียน ก่อนและหลังการใช้รูปแบบฯ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยหลังการใช้รูปแบบฯ นักเรียนมีพฤติกรรมสูงขึ้นกว่าก่อนการนำรูปแบบฯ ไปใช้