บทคัดย่อ
รายงานการวิจัยเรื่องการจัดทำเอกสารประกอบการเรียนเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียนที่จัดทำขึ้นให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) ศึกษาเปรียบเทียบผลการเรียนก่อนเรียนกับหลังเรียนจากการใช้เอกสารประกอบการเรียนที่ได้จัดทำขึ้น 3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนในการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนที่ได้จัดทำขึ้น
ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ นักเรียนที่เรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 16 คน เนื่องจากประชากรมีเพียง 16 คนจึงไม่มีกลุ่มตัวอย่าง
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่
1) เอกสารประกอบการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีเครื่องมือในการศึกษาในแต่ละหน่วยการเรียนรู้ ประกอบด้วย แบบทดสอบก่อนเรียน กิจกรรมการเรียน และแบบทดสอบหลังเรียน
2) แบบประเมินคุณภาพของเอกสารประกอบการเรียนโดยผู้เชี่ยวชาญ
3) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนในการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนที่จัดทำขึ้น
วิธีดำเนินการวิจัย มีขั้นตอน ดังนี้
1) ทดสอบก่อนเรียนโดยทดสอบก่อนที่จะเรียนสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ภาคเรียนที่ 1
2) นำเอกสารประกอบการเรียน ที่จัดทำขึ้นไปใช้กับนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โดยใช้ประกอบการเรียนการสอนในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ โดยให้นักเรียนศึกษาเอกสารประกอบการเรียน เริ่มจากศึกษาคำชี้แจง ทำแบบทดสอบก่อนเรียน และทำกิจกรรมแล้วเก็บคะแนนเป็นรายหน่วยการเรียนรู้และเมื่อเรียนจบแต่ละหน่วยการเรียนรู้แล้วให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังเรียนของหน่วย แล้วเก็บคะแนนไว้เพื่อประมวลผลต่อไป
3) เมื่อนักเรียน เรียนแต่ละหน่วยการเรียนรู้แล้ว ให้นักเรียนทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียนแล้วเก็บไว้เพื่อประมวลผลต่อไป
4) ประมวลผลการศึกษาในทุกหน่วยการเรียนรู้ โดยศึกษาประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียนจากการนำผลการเรียนระหว่างเรียน เปรียบเทียบกับผลการเรียนหลังเรียน และศึกษาผลการเรียนก่อนเรียน เปรียบเทียบกับผลการเรียนหลังเรียน และศึกษาผลการประเมินความพึงพอใจ
วิเคราะห์และสรุปผลการวิจัย
ผลการวิจัยพบว่า 1) เอกสารประกอบการเรียนที่จัดทำขึ้นมีประสิทธิภาพเฉลี่ยร้อยละ 81.83/80.84 แสดงว่าเอกสารประกอบการเรียนมีประสิทธิภาพเป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ 2) ผลการเรียนก่อนเรียนเปรียบเทียบกับผลการเรียนหลังเรียน ปรากฏว่าผลการเรียนหลังเรียนสูงกว่าผลการเรียนก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกล่าวคือ เมื่อเปรียบเทียบผลการเรียนก่อนเรียนกับผลการเรียนหลังเรียนโดยพิจารณาแต่ละหน่วยการเรียนรู้ปรากฏว่าผลการเรียนก่อนเรียนเฉลี่ยร้อยละ 46.67 ผลการเรียนหลังเรียนเฉลี่ยร้อยละ 80.77 โดยมีค่า t เท่ากับ 76.77 และเมื่อเปรียบเทียบผลการเรียนก่อนเรียนกับผลการเรียนหลังเรียนเมื่อพิจารณาทั้งกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ภาคเรียนที่ 1 ปรากฏว่าผลการเรียนก่อนเรียนเฉลี่ยร้อยละ 44.69 ผลการเรียนหลังเรียนเฉลี่ยร้อยละ 81.04 โดยมีค่า t เท่ากับ 15.58 เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ และ3) ผลการประเมินความพึงพอใจของนักเรียนจากการเรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน ปรากฏว่ามีค่าเฉลี่ย (µ) เท่ากับ 4.58 ( = 4.58 = 0.10 ) ซึ่งอยู่ในระดับมากที่สุดเป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้
ข้อเสนอแนะ
1. ข้อเสนอแนะสำหรับการดำเนินการในอนาคต
ผู้วิจัยเห็นว่าในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน นักเรียนมักจะมีปัญหาในการอ่าน และทำความเข้าใจหนังสือเรียนหรือตำราต่างๆ ถ้าครูผู้สอนจะได้จัดทำเอกสารประกอบการเรียนให้เหมาะสมเป็นการเฉพาะแล้ว จะเป็นประโยชน์แก่นักเรียนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้นอย่างแน่นอน อีกทั้งเกิดความสะดวกแก่ครูผู้สอน และนอกจากนั้นจะเกิดประโยชน์แก่นักเรียนในการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ด้วย และในกรณีที่มีความจำเป็นก็อาจจัดให้เพื่อนครูสอนแทนก็สามารถสอนได้ง่ายเพราะมีนวัตกรรมพร้อมแล้ว นอกจากนั้นผู้วิจัยเห็นว่า จากการที่ได้สร้างนวัตกรรมในรูปของเอกสารประกอบการเรียน สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ผู้วิจัยพบว่า ในบางหน่วยการเรียนรู้ หรือบางเรื่อง อาจสร้างนวัตกรรมในรูปอื่นๆประกอบได้อีก เช่น บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการเรียน เอกสารประกอบการค้นคว้ารวมทั้งนวัตกรรมในรูปสื่อเทคโนโลยีต่างๆ เช่น Power Point เพื่อประกอบการอธิบาย หรือสรุปของครูหรือทำเป็นลักษณะของบทเรียน e-Learning หรือ CAI ให้นักเรียนได้เรียนด้วยตนเองตามความพร้อมของนักเรียนก็ได้ และนอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงศึกษาธิการมีโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยจะมีการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วงซึ่งจะประกอบด้วยคอมพิวเตอร์แบบพกพา และจอ LED TV ในห้องเรียน ทำให้เกิดความสะดวกแก่ครูผู้สอนมากยิ่งขึ้น
2. ข้อเสนอแนะสำหรับเพื่อนครู
ผู้วิจัยเห็นว่า การสร้างนวัตกรรมนั้นควรดำเนินการเป็นขั้นตอน เริ่มจากการศึกษาปัญหาการเรียนการสอนก่อน แล้วจึงวิเคราะห์หลักสูตร จัดหน่วยการเรียนรู้ และจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้อย่างที่เพื่อนครูทำกันอยู่และจัดทำสื่อเพื่อใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียนแล้วรวบรวมให้เป็นรูปเล่ม จัดพิมพ์ และจัดภาพให้เหมาะสมสวยงาม สิ่งสำคัญ คือ ในแผนการจัดการเรียนรู้แต่ละแผนเพื่อนครูก็มีสื่อที่ให้นักเรียนใช้อยู่แล้วไม่ว่า ใบความรู้ ใบงาน แบบฝึกหัด หรือกิจกรรมต่างๆ สิ่งเหล่านี้คือ พื้นฐานที่เพื่อนครูนำมาพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้ โดยแยกเป็นรายหน่วยการเรียนรู้ หรือเป็นเรื่องตามความสะดวก ทั้งนี้ต้องให้มีความถูกต้อง เหมาะสมตามหลักสูตร และมีคุณภาพ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ ความก้าวหน้าทางวิชาการที่เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมในการเรียนการสอนนั้นได้พัฒนาไปเร็วมาก จำเป็นที่เพื่อนครูจะต้องติดตามให้ทันมิฉะนั้นจะไม่ทันสมัย และไม่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน และผลสุดท้ายอาจนำไปใช้ไม่ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร