ชื่องานวิจัย การพัฒนาหนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ
กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒
ชื่อผู้วิจัย นางสุคนธ์ สุพรรณพงศ์ ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ
ปีที่ศึกษา ๒๕๕๘
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ๒) เพื่อสร้างและพัฒนาหนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ ๘๐/๘๐ ๓) เพื่อศึกษาผลการใช้หนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ๔) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ได้แก่ (๑) ครูผู้สอนภาษาไทย (๒) ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ (๓) รายงานการประเมินผลการอ่าน คิดวิเคราะห์ และการเขียนสื่อความ ของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ และ(๔) รายงานผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน( O-Net) ของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการสร้างและพัฒนาหนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ได้แก่ (๑) ผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา จำนวน ๕ ท่าน คือ (๑) ด้านหลักสูตรและการสอน ๑ ท่าน (๒) ด้านภาษาไทย ๒ ท่าน (๓) ด้านวัดผลประเมินผล ๑ ท่าน (๔) ด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ๑ ท่านได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) (๒) ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนเทศบาล ๓ (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์) ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ที่ใช้ในการทดลองหาประสิทธิภาพ แบบรายบุคคล จำนวน ๓ คน แบบกลุ่มเล็ก จำนวน ๙ คน และแบบภาคสนาม จำนวน ๓๐ คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาผลการใช้หนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ได้แก่ เป็นผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒/๔ โรงเรียนเทศบาล ๓ (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์) ปีการศึกษา ๒๕๕๘ จำนวน ๑ ห้องเรียน มีจำนวนผู้เรียนทั้งหมด ๓๗ คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) และแหล่งข้อมูลที่ใช้ประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ได้แก่ เป็นผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒/๔โรงเรียนเทศบาล ๓ (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์) ปีการศึกษา ๒๕๕๘ จำนวน ๑ ห้องเรียน มีจำนวนผู้เรียนทั้งหมด ๓๗ คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ (๑) แบบบันทึกสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน (๒) แบบสัมภาษณ์สภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน (๓) หนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จำนวน ๑๐ เรื่อง (๔) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน ๑๐ แผน (๕) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน ๑ ฉบับ เป็นแบบปรนัย ๓ ตัวเลือก จำนวน ๓๐ ข้อ ใช้เวลาในการสอบ ๑ ชั่วโมง (๖) แบบทดสอบวัดทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความจำนวน ๑ ฉบับ มี ๔ ตอน ได้แก่ ตอนที่ ๑ประเมินทักษะการอ่าน ตอนที่ ๒ เลือกตอบถูก-ผิด จำนวน ๑๐ ข้อ ตอนที่ ๓ ประเมินการคิดวิเคราะห์ แบบปรนัย ๓ ตัวเลือก จำนวน ๑๐ ข้อ และตอนที่ ๔ การเขียนแสดงความคิดเห็น จำนวน ๒ ข้อ ใช้เวลาในการสอบ ๑ ชั่วโมง (๗) แบบประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จำนวน ๑๐ ข้อ การเก็บรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยดำเนินการทดลองใช้เวลาในการจัดการเรียนรู้ เรื่องละ ๔ ชั่วโมง จำนวน ๘ สัปดาห์ สัปดาห์ละ ๕ ชั่วโมง รวมเวลา ๔๐ ชั่วโมง โดยใช้เวลาในช่วงสอนเสริมวันละ ๑ ชั่วโมง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ได้แก่ ร้อยละ คะแนนเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าประสิทธิภาพ (E๑/E๒) ความยากง่าย (p) อำนาจจำแนก (r) ค่าดัชนีความสอดคล้อง (Index of Item Objective Congruence : IOC) ความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) ค่าความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟา (Alpha-Coefficient) ของ Cronbach และการทดสอบทีแบบไม่เป็นอิสระต่อกัน (t test dependent)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ผลการศึกษาสภาพปัญหา คือ ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ โรงเรียนเทศบาล ๓ (โศภนพิทยาคุณานุสรณ์) มีปัญหาเรื่องทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ มากที่สุด ดังจะเห็นได้จาก รายงานผลการประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ในปีการศึกษา ๒๕๕๗ พบว่า ผู้เรียนร้อยละ ๕๗ มีผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ ที่โรงเรียนกำหนดไว้ที่ระดับดี และรายงานผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ของผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ พบว่า กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จากคะแนนเต็ม ๑๐๐ คะแนน คะแนนเฉลี่ยระดับโรงเรียน ร้อยละ ๔๔.๗๑ ผลการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา คือ (๑) ด้านผู้บริหาร ให้ความสำคัญต่อการใช้สื่อทางด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ น้อย (๒) ด้านครูผู้สอน เกิดจากการจัดการเรียนรู้แบบเดิม ๆ ใช้แต่หนังสือแบบเรียนอย่างเดียว ขาดเทคนิคการสอน ไม่ได้สร้างสื่อเพิ่ม (๓) ด้านผู้เรียน เกิดจากผู้เรียนบางคนอ่านหนังสือไม่คล่อง บางคนอ่านหนังสือได้ แต่ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ อ่านแล้วแปลความ ตีความ บอกเหตุผลไม่ได้ และผู้เรียนบางคน เบื่อหน่ายไม่ชอบอ่านหนังสือ ขาดความสนใจในการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ (๔) ด้านสื่อการสอน ขาดแคลนสื่อทางด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เร้าความสนใจผู้เรียนหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมกับการพัฒนาทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ (๕) ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและรายงานผลการสอบระดับชาติ ขั้นพื้นฐาน (O-Net) อยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์ (๖) ด้านพื้นฐานทางครอบครัว ผู้เรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวแตกแยกขาดความอบอุ่นไม่มีผู้ดูแลเอาใจใส่เรื่องการเรียนเท่าที่ควร และส่วนหนึ่งผู้เรียนเป็นชาติพันธุ์ ผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ จากการสัมภาษณ์ ครูผู้สอนภาษาไทย และผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ พบว่า ต้องการให้สร้างหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาเป็นนิทานสั้น ๆ เข้าใจง่าย เป็นเรื่องที่ผู้เรียนเคยอ่านเคยฟังมาแล้ว ซึ่งนิทานอีสปเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เหมาะสมกับวัยของผู้เรียน ควรมีรูปภาพประกอบดึงดูดความสนใจ เพื่อเหมาะกับผู้เรียนที่อ่านไม่คล่อง และให้ผู้เรียนทำกิจกรรมในแบบทดสอบระหว่างเรียนด้วย โดยการฝึกจากง่ายไปหายาก มีแบบฝึกหัดท้ายเรื่องเพื่อฝึกทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ดังนั้นแนวทางพัฒนาที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น คือ การพัฒนาหนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒
๒. ผลการสร้างและพัฒนาหนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ สร้างหนังสือนิทาน ๑๐ เรื่อง สอนเรื่องละ ๔ ชั่วโมง โดยใช้เวลาในช่วงสอนเสริมวันละ ๑ ชั่วโมง จำนวน ๔๐ ชั่วโมง หนังสือนิทานที่พัฒนาขึ้น มีค่าประสิทธิภาพ เท่ากับ ๘๖.๓๘/๘๕.๔๑ สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ๘๐/๘๐
๓. ผลการศึกษาผลการใช้หนังสือนิทานเพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ส่งผลให้ผู้เรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์และเขียนสื่อความ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
๔. ผลการประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนชั้นชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ ที่มีต่อการเรียนโดยใช้หนังสือนิทาน เพื่อส่งเสริมทักษะการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ อยู่ในระดับมากที่สุด ( =๔.๘๖, S.D.=.๓๑)