รายงานการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถ
ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1
ผู้วิจัย นางนรารัตน์ พจนวิชัย
ตำแหน่ง ครู โรงเรียนวัดปิยะวัฒนาราม
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
บทนำ
การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดู และการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม (กระทรวงศึกษาธิการ, 2546 : 5) นักการศึกษาทุกสาขาทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญและให้ความสนใจด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ด้วยความเชื่อว่า การเรียนรู้ในช่วงวัยนี้มีผลกระทบในระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของคน เพราะเป็นช่วงที่สมองมีการเจริญเติบโตในอัตราสูงสุด ดังนั้นสิ่งแวดล้อมที่ดีรอบตัวเด็ก การเลี้ยงดู การดูแลอย่างอบอุ่น ใกล้ชิด การช่วยเหลือและปกป้องจากอันตราย รวมถึงความพร้อมในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานตามวัยได้อย่างเหมาะสมทุกด้าน เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะส่งผลต่อสติปัญญา สมรรถนะ และความสามารถของเด็กอย่างถาวร เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตสมวัยและอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2552 : บทนำ)
ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ของเด็กปฐมวัย เพราะกล้ามเนื้อเล็กเป็นส่วนหนึ่งในการประกอบกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ติดกระดุม ผูกเชือกรองเท้า เทน้ำใส่แก้ว ดื่มนม รับประทานอาหาร การทำงานศิลปะ รวมทั้งการขีดเขียน ถ้าเด็กสามารถใช้กล้ามเนื้อเล็กได้อย่างคล่องแคล่ว มือและสายตาทำงานได้อย่างประสานสัมพันธ์กันดี เด็กก็จะได้ทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน ๆ ได้อย่างสนุกสนานและประสบความสำเร็จ อีกทั้งเป็นการเตรียมกล้ามเนื้อแขน มือ และนิ้วมือสำหรับการเขียนหนังสือในระยะต่อไป เพราะหากเด็กไม่พร้อม และทำไม่ได้อย่างที่เพื่อน ๆ ทำ อาจเกิดความคับข้องใจหรือเกิดความรู้สึกล้มเหลว ทำให้ขาด ความภาคภูมิใจในตัวเอง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสร้างความมั่นใจในตัวเอง ในอนาคตของเด็ก (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2552 : 10) ดังนั้นการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาความสามารถ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ให้สามารถใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ทำงานอย่างประสานสัมพันธ์กัน จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่การที่จะให้เด็กใช้กล้ามเนื้อเล็กได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องได้รับ การฝึกฝนให้เพียงพอและต่อเนื่อง ซึ่งเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่ร่างกายและสมองกำลังเจริญเติบโต อย่างรวดเร็ว เด็กวัยนี้สามารถเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้สำรวจ ได้เล่น ทดลอง ค้นพบด้วยตนเอง สอดคล้องกับแนวคิดของ กุลยา ตันติผลาชีวะ (2551 : 44) ที่กล่าวว่าการจัด การเรียนการสอนในระดับปฐมวัยเป็นแบบ พหุจุดประสงค์ ซึ่งหมายถึงว่า การสอนปฐมวัยศึกษาไม่ได้มุ่งที่การพัฒนาสติปัญญาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการดูแล การส่งเสริมพัฒนาการ เพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีฐานความสามารถพร้อมที่จะเรียนในระบบโรงเรียน จึงเป็นการพัฒนาและสร้างเสริมการเรียนรู้ให้สมบูรณ์ตามวัย ผ่านการลงมือปฏิบัติ และการสัมผัสวัตถุสิ่งของ
ปัจจุบันเป็นที่น่าวิตกและถือเป็นวิกฤติของเด็กปฐมวัย เนื่องจากข้อเท็จจริงจากการประเมินสถานการณ์และทดสอบพัฒนาการอย่างคัดกรองในเด็กปฐมวัย (อายุ 0 - 5 ปี) พบว่า โดยภาพรวม เด็กปฐมวัยมีแนวโน้มพัฒนาการล่าช้าในด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม สติปัญญาและจริยธรรม ซึ่งประเด็นปัญหาส่วนหนึ่ง เกิดจากเด็กปฐมวัยที่มีอายุ 3 - 5 ปี ที่รับบริการจากสถานพัฒนา เด็กปฐมวัยในรูปแบบโรงเรียนอนุบาล ยังด้อยคุณภาพในเรื่องการจัดการเรียนรู้ เพราะมีการเร่งสอน อ่านเขียน คิดเลข เพื่อให้สามารถสอบเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไม่ให้อิสระแก่เด็กในการแสดงออก ห้ามเด็กพูด การบังคับให้นั่งเงียบ ๆ ให้การบ้านทุกวัน ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับวิธีการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา, 2555 : 6 - 7) สอดคล้องกับอรุณวันท์ ทะพิงค์แก (2545 : 1) ที่กล่าวว่า การจัดการศึกษาระดับปฐมวัยในปัจจุบัน ยังมีโรงเรียนอนุบาลและสถานศึกษาอีกหลายแห่งที่ยังมุ่งเน้นการเรียนการสอน โดยเร่งให้เด็กอ่านเขียนได้ ก่อนวัยอันสมควร ครูไม่ได้จัดกิจกรรมให้เด็กอย่างเหมาะสมกับวัย โดยเฉพาะกิจกรรมที่จะพัฒนาทักษะการใช้กล้ามเนื้อเล็ก อันได้แก่ การฝึกประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนิ้วมือ การประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือกับตา ซึ่งความพร้อมของทักษะ และพัฒนาการทั้งหลายนี้เองจะเป็นตัวพัฒนาทักษะการเขียน การเรียนหนังสือของเด็ก รวมทั้งฝึกให้เด็กรู้จักการช่วยเหลือตนเอง การปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ และทำงานหรือกิจกรรมในพัฒนาการขั้นต่อ ๆ ไปได้ อย่างสมบูรณ์
จากการศึกษาพัฒนาการการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาล ปีที่ 1 ของโรงเรียน
วัดปิยะวัฒนาราม จากเอกสารรายงานประจำปีของสถานศึกษาระดับปฐมวัย ประจำปีการศึกษา 2556 (2556 : 51) พิจารณาจากร้อยละของจำนวนเด็กปฐมวัยตามระดับพัฒนาการ พบว่าเด็กที่มีระดับพัฒนาการดี ร้อยละ 56.00 พัฒนาการปานกลาง ร้อยละ 28.00 และพัฒนาการต่ำควรปรับปรุง ร้อยละ 16.00 ซึ่งนักเรียนกลุ่มที่มีพัฒนาการความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กต่ำ ส่งผลให้ การใช้ชีวิตประจำวันของเด็กปฐมวัยกลุ่มนี้มีปัญหา เนื่องจากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เช่น สวมรองเท้าหรือถอดรองเท้าไม่ได้ รับประทานอาหารหกเลอะเทอะ เพราะไม่สามารถควบคุมมือ ให้จับช้อนตักอาหารเข้าปากได้ดี ปลดกระดุมกางเกงเวลาจะถ่ายอุจจาระไม่ได้ ทำให้ถ่ายอุจจาระ รดกางเกง พับเก็บที่นอนไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ทำให้เด็กเกิดความคับข้องใจ ขาดความเชื่อมั่น ในตนเอง เพราะต้องพึ่งพาคนอื่นในการปฏิบัติกิจกรรมเหล่านี้อยู่เสมอ มีผลต่อการปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ ในห้องเรียน ซึ่งสาเหตุมาจากเด็กไม่ได้รับการฝึกฝนหรือส่งเสริมให้ใช้มือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพราะพ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นผู้ที่ทำให้เด็กทุกอย่าง เด็กจึงขาดการทักษะ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กในการปฏิบัติกิจกรรมเหล่านั้น กล้ามเนื้อเล็กจึงอ่อนแอ ขาดความแข็งแรง ทำให้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กถดถอยลงไป และมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และการเรียนรู้ของเด็กในเรื่องต่าง ๆ
ดังนั้นผู้วิจัยจึงต้องการจะศึกษาวิจัยเรื่อง ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหารให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และเปรียบเทียบความสามารถ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการส่งเสริม และพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยต่อไป
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2. เพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร
ความสำคัญของการวิจัย
1. เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กเพิ่มขึ้น
2. ครูสามารถนำชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ไปใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กเพิ่มขึ้นได้
3. เป็นแนวทางในการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยในพื้นที่หรือผู้เรียนในระดับอื่น ๆ
ขอบเขตของการวิจัย
ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร คือ เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนวัดปิยะวัฒนาราม จำนวน 75 คน
กลุ่มตัวอย่าง คือ การศึกษาจากประชากร เด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 1/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนวัดปิยะวัฒนาราม จำนวน 25 คน ซึ่งเป็นห้อง ที่ผู้วิจัยสอนประจำชั้น ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง
ตัวแปร
ตัวแปรต้น คือ ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร
ตัวแปรตาม คือ ประสิทธิภาพ และความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1/1
กรอบแนวคิดในการวิจัย
จากการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุดกิจกรรม พบว่าชุดกิจกรรมสามารถส่งเสริมพัฒนาการและเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัยในด้านต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ผู้วิจัยจึงนำมากำหนดเป็นกรอบแนวคิดการวิจัยครั้งนี้ ดังภาพที่ 1.1
ภาพที่ 1.1 กรอบแนวคิดการวิจัย
สมมติฐานการวิจัย
1. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการประกอบอาหารเท่ากับ 80/80
2. เด็กปฐมวัยมีความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร
นิยามศัพท์เฉพาะ
1. ชุดกิจกรรม หมายถึง ชุดกิจกรรมที่ประกอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนในการ ประกอบอาหาร ซึ่งผู้วิจัยได้ศึกษาและพัฒนาขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชุดกิจกรรมประกอบอาหารมีทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 เรื่อง นวด คลึง ปั้น หรรษาพาอร่อย ชุดที่ 2 เรื่อง ตอก ๆ ตี ๆ ไข่นี้แสนอร่อย ชุดที่ 3 เรื่อง ฉีก แกะ ตัด ทอด ๆ ผัด ๆ สุดแสนอร่อย และชุดที่ 4 เรื่อง ตัก ปาด พับ ม้วน ชวนอร่อย ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร
แต่ละชุดประกอบด้วย
1.1 ชื่อชุดกิจกรรม
1.2 คำชี้แจง ประกอบด้วย
1.2.1 ความเป็นมาของการพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหาร
1.2.2 แนวทางการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1
(1) สถานที่ในการจัดกิจกรรมประกอบอาหารของเด็กปฐมวัย
(2) เวลาในการจัดกิจกรรมประกอบอาหาร
(3) การเตรียมตัวของครูผู้สอนก่อนจัดกิจกรรม
(4) การปฏิบัติของครูผู้สอนขณะจัดกิจกรรม
(5) การปฏิบัติของครูผู้สอนหลังจัดกิจกรรม
1.3 จุดประสงค์การเรียนรู้
1.4 เนื้อหาสาระที่ต้องการให้เด็กเรียนรู้ ประกอบด้วย
1.4.1 ประสบการณ์สำคัญ
1.4.2 สาระที่ควรเรียนรู้
1.5 แบบประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียน
1.6 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ประกอบด้วย
1.6.1 กิจกรรมประกอบอาหาร
1.6.2 สื่อการเรียนการสอน
1.6.3 การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของครูและเด็กในกิจกรรมประกอบอาหารแต่ละชนิด
1.6.4 การวัดผลประเมินผล
1.7 แบบประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยหลังเรียน
1.8 คู่มือการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร คือคู่มือที่จัดขึ้นเพื่อให้ครูผู้สอนสามารถ นำชุดกิจกรรมไปใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็กปฐมวัยได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการวิจัย ประกอบด้วยความเป็นมาของการพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหาร วัตถุประสงค์ของการพัฒนาชุดกิจกรรมประกอบอาหาร แนวทางการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 แบบประเมินย่อยก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร และแผนการจัดประสบการณ์
2. ประสิทธิภาพ หมายถึง
2.1 80 ตัวแรก หมายถึง ประสิทธิภาพของกระบวนการในชุดกิจกรรมประกอบอาหาร คิดเป็นร้อยละจากคะแนนการประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารรายชุด ทั้ง 4 ชุดรวมกัน
2.2 80 ตัวหลัง หมายถึง ประสิทธิภาพของผลลัพธ์ จากการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร คิดเป็นร้อยละจากคะแนนการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยหลังเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารในภาพรวม
3. ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก หมายถึง ความสามารถในการบังคับ การเคลื่อนไหวของมือ นิ้วมือ ข้อต่อ รวมทั้งการทำงานประสานสัมพันธ์กันระหว่างมือกับสายตา อย่างมีประสิทธิภาพ ในการหยิบ จับ สัมผัส หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วไม่ตกหล่น ประเมินได้จากแบบประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 3 ระดับ จำนวน 10 ข้อ ดังนี้
ข้อที่ 1 การประกอบภาพตัดต่อลงในกรอบ
ข้อที่ 2 การร้อยลูกปัด
ข้อที่ 3 การใช้กรรไกรตัดกระดาษ
ข้อที่ 4 การวาดรูปสี่เหลี่ยม
ข้อที่ 5 การวาดภาพบ้าน
ข้อที่ 6 การเขียนเส้นตามรอยประ
ข้อที่ 7 การวาดรูปคน
ข้อที่ 8 การฉีก ปะ กระดาษ
ข้อที่ 9 การระบายสีในกรอบ
ข้อที่ 10 การพับกระดาษ
วิธีดำเนินการวิจัย
แบบแผนการวิจัย
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) ใช้แบบแผนการทดลองแบบ One Group Pretest Posttest Design
ความหมายของสัญลักษณ์
T1 แทน การประเมินก่อนการทดลอง (Pre-test)
X แทน การจัดประสบการณ์ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร)
T2 แทน การประเมินหลังการทดลอง (Post-test)
ระยะเวลาในการวิจัย
การวิจัยใช้เวลาครั้งละ 50 นาที สัปดาห์ละ 4 ครั้ง ต่อเนื่องกัน 8 สัปดาห์ รวม 32 ครั้ง ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557
วิธีดำเนินการการวิจัย
1. ก่อนทำการทดลอง ผู้วิจัยทำการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ของเด็กปฐมวัยกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้แบบประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จำนวน 10 ข้อ ตรวจพิจารณาผลงานของเด็ก แล้วพิจารณาให้คะแนนตามเกณฑ์การให้คะแนน จดบันทึกไว้เป็นคะแนนการประเมินก่อนเรียน
2. ดำเนินการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 ด้วยแบบประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเล็ก ของเด็กปฐมวัยก่อนเรียน ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ระดับ จำนวน 2 ข้อ ตรวจผลงานของเด็กแล้วพิจารณาให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด จดบันทึกคะแนนไว้เปรียบเทียบกับคะแนน การประเมินย่อยหลังเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1
3. ดำเนินการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 ให้กับเด็กปฐมวัย โดยใช้เวลาในการจัด จำนวน 2 สัปดาห์
4. ดำเนินการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยหลังเรียน ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 ด้วยแบบประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเล็ก ของเด็กปฐมวัยหลังเรียน ซึ่งเป็นแบบประเมินย่อยชุดเดียวกับก่อนเรียน จำนวน 2 ข้อ ตรวจผลงานแล้วพิจารณาให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด นำคะแนนที่ได้มาเปรียบเทียบกับคะแนนก่อนเรียน เพื่อดูผลการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย จากการเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1
5. ดำเนินการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 2 - 4 เช่นเดียวกับการใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 ตามข้อที่ 2 - 4
6. จดบันทึกคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารรายชุด ทั้ง 4 ชุด ไว้หาประสิทธิภาพของกระบวนการ ( ) ของชุดกิจกรรมประกอบอาหารต่อไป
7. เมื่อสิ้นสุดการทดลองใช้ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ทั้ง 4 ชุดแล้ว ผู้วิจัยดำเนินการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยหลังเรียนในภาพรวม โดยใช้แบบประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ฉบับเดียวกับการประเมินก่อนเรียน จำนวน 10 ข้อ ใช้เกณฑ์การให้คะแนนและการแปลความหมายเช่นเดียวกัน จดบันทึกคะแนน ไว้หาประสิทธิภาพของกระบวนการ ( ) ของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร
8. หาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร โดยนำคะแนนจากการประเมินย่อยวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารรายชุด ทั้ง 4 ชุด จากข้อ 6. และคะแนนจากการการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ของเด็กปฐมวัยหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารในภาพรวม จากข้อ 7 มาคำนวณหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร / เพื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้
9. นำคะแนนที่ได้จากการประเมินวัดความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ตามข้อ 1. ข้อ 6. และข้อ 7. มาวิเคราะห์ข้อมูล โดยการหาค่าทางสถิติ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าร้อยละ (%) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนเรียน และคะแนนหลังเรียนของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้สถิติทีแบบไม่อิสระ (t-Test Dependent)
การวิเคราะห์ข้อมูล
1. การหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2. เปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียน และหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร โดยวิเคราะห์จากคะแนนการประเมินก่อนเรียน และคะแนนการประเมินหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ สถิติหาคุณภาพของเครื่องมือใช้ IOC หาค่าความสอดคล้องของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร เก็บรวบรวมข้อมูลจากการพิจารณาของผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน และใช้ หาค่าความเที่ยงของแบบประเมิน สถิติบรรยาย ได้แก่ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ของคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยสถิติ หาคุณภาพนวัตกรรม ใช้ / หาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร สถิติอ้างอิงใช้ (t-Test) แบบไม่อิสระเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร
สรุปผลการวิจัย
1. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมการประกอบอาหาร ( / ) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.68/85.87 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 ที่กำหนดไว้
2. ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรม ประกอบอาหารสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
อภิปรายผลการวิจัย
จากผลการวิจัย สามารถอภิปรายผลได้ตามลำดับหัวข้อต่อไปนี้
1. ประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมประกอบอาหาร มีประสิทธิภาพเท่ากับ 83.68/85.87 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้ สอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ เนื่องจากชุดกิจกรรมประกอบอาหารที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ได้ผ่านการวิเคราะห์เนื้อหา การกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ และมีลำดับขั้นตอนการทำกิจกรรมที่ชัดเจน มีการทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริง การจัดประสบการณ์ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น จึงเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้ทำงานกับเครื่องปรุงและวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร โดยการ ใช้มือและนิ้วมือหยิบ จับ อุปกรณ์ต่าง ๆ การตัก การคน เครื่องปรุงหรือส่วนผสมของอาหาร การนวด คลึง ปั้น แกะ ฉีก ตัดด้วยกรรไกร ได้ตอกไข่ ตีไข่ พับแผ่นเกี๊ยว ม้วนแผ่นเกี๊ยว ละเลง ลูบไล้ ในขณะประกอบอาหาร จนพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กให้สูงขึ้นได้ในที่สุด สอดคล้องกับงานวิจัยของ ดวงฤดี มะทะการ (2550 : 27 - 28) ที่ได้วิจัยเรื่อง ชุดกิจกรรมการเตรียมความพร้อม ทางวิทยาศาสตร์โดยใช้กิจกรรมศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ผลการวิจัยพบว่า การสร้าง และหาประสิทธิภาพของชุดกิจกรรมเตรียมความพร้อมทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้กิจกรรมศิลปะ สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวนทั้งหมด 10 ชุด มีประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยเท่ากับ 76.95/79.7 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 70/70 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชุดกิจกรรม มีผลทำให้นักเรียนเข้าใจ และเกิดทักษะการเรียนรู้อย่างแท้จริง เนื่องจากนักเรียนได้ทำกิจกรรม ด้วยตนเอง ได้ลงมือปฏิบัติจริง และสอดคล้องกับงานวิจัยของ นวพร เรืองสมบัติ (2553 : 70 - 71) ที่ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง การสร้างชุดกิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย ผลการวิจัยพบว่า ชุดกิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยมีประสิทธิภาพ 89.10/88.83 ซึ่งแสดงว่าชุดกิจกรรม ทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมความฉลาดทางอารมณ์ให้สูงขึ้นได้ เนื่องจากชุดกิจกรรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นได้ผ่านการวิเคราะห์เนื้อหา มีการกำหนดจุดประสงค์การเรียนรู้ ที่ชัดเจน และมีลำดับขั้นตอนการทำงาน มีการทดลองใช้ก่อนนำไปใช้จริง กิจกรรมในชุดกิจกรรม เน้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ที่เน้นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ อาศัยหลักการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เรียนได้สร้างความรู้จากประสบการณ์เดิม และเรียนรู้จากการปฏิบัติ ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
2. ผลการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 1 ด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร โดยการเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ของเด็กปฐมวัยก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหาร พบว่า คะแนนความสามารถ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 20.36 คะแนน และมีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ 25.76 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กระหว่างก่อนเรียนกับหลังเรียน พบว่า ค่าทีที่คำนวณได้มีค่าเท่ากับ 6.877 ซึ่งสูงกว่าค่าทีจากตาราง ที่มีค่าเท่ากับ 2.495 จึงสรุปได้ว่า คะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ แสดงให้เห็นว่าชุดกิจกรรมประกอบอาหารที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น สามารถพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยให้สูงขึ้นได้ เป็นเพราะว่ากิจกรรมต่าง ๆ ในชุดกิจกรรมประกอบอาหาร เปิดโอกาสให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรงในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือและสายตา จากการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือและสายตาทำงานร่วมกันกับสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ในการประกอบอาหารที่หลากหลาย ซึ่งเป็นอาหารที่ง่าย น่าสนใจ และมีรสชาติอร่อย จึงมีผลทำให้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยสูงขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของ ทำเนียบ เพียงตา (2556 : 46) ที่กล่าวว่า การจัดกิจกรรมประกอบอาหารเป็นการจัดกิจกรรมที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญเป็นกิจกรรมที่จัดให้เด็กได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติการทดลองประกอบอาหารจากของจริงในหลายรูปแบบ ให้เด็กได้ใช้ประสาทสัมผัส ในการเรียนรู้ เรียนรู้กระบวนการทำงาน มีการสร้างองค์ความรู้ และปฏิบัติกิจกรรมได้ด้วยตนเอง สอดคล้องกับงานวิจัยของจุฑามาศ เรือนก๋า (2553 : 42) ที่พบว่า สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายจะช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ และกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม ซึ่งช่วยให้การดำเนินกิจกรรม เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้ และสอดคล้องกับข้อสังเกตที่ได้จากการศึกษาของ ศรินยา ทรัพย์วารี (2552 : 74) ที่พบว่า การเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ของจริง ได้ลงมือกระทำกับสื่อ วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง ทำให้เกิดความสนใจ ตั้งใจ มีความกระตือรือร้นในการทำกิจกรรม จะเห็นว่ากิจกรรมประกอบอาหารในชุดกิจกรรมแต่ละชุด ล้วนมีความหมายต่อตัวเด็ก เพราะเมื่อประกอบอาหารเสร็จ เด็กจะได้รับประทานอาหารที่ทำมาจากฝีมือของเด็กเอง จึงทำให้เด็กมีความสนใจ กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และลงมือทำกิจกรรมด้วยความตั้งใจ ได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง มีผลทำให้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้อง กับปรัชญาการศึกษาของ จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ที่กล่าวว่า เด็กเรียนรู้ได้ดีจากการลงมือปฏิบัติ จึงควรจัดให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุสิ่งของ เด็กและผู้ใหญ่ สอดคล้องกับแนวคิดของสมกมล บุญมี (2551 : 11-12) ที่กล่าวว่า การจัดประสบการณ์การประกอบอาหารช่วยในการพัฒนากล้ามเนื้อเล็กของเด็กจากการหั่น ล้าง ปั้น คลึง นวดแป้ง การบด การผสม การคลุกอาหาร สอดคล้องกับ การใช้ชีวิตประจำวัน และธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย ที่มีความอยากรู้อยากเห็น สนใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว สอดคล้องกับแนวทางการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 (กระทรวงศึกษาธิการ, 2548 : 52) ที่กล่าวว่า การจัดประสบการณ์ควรจัด ให้เด็กได้ลงมือกระทำ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้เคลื่อนไหว สำรวจ เล่น สังเกต สืบค้น ทดลองและคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง
นอกจากนี้ชุดกิจกรรมประกอบอาหารได้ถูกจัดหมวดหมู่เป็นชุด ตามลักษณะของการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตาทำงาน ทั้งนี้เพื่อฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือและสายตาในแต่ละอย่างให้เพียงพอต่อการพัฒนา เช่น ในชุดกิจกรรมประกอบอาหารชุดที่ 1 เรื่อง นวด คลึง ปั้น หรรษาพาอร่อย กิจกรรมประกอบอาหารในชุดนี้ เปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ ในการนวด คลึง และปั้นแป้งหรือเครื่องปรุงอื่น ๆ ให้มีรูปร่างตามชนิดของอาหาร ซึ่งวัสดุหรือเครื่องปรุงอาหารแต่ละชนิดก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น ขนมไข่นก เด็กจะได้ปั้นแป้งผสมกับมันเทศบด ซึ่งจะมีเนื้อแป้งที่นุ่มเหนียวและเนียน ซึ่งง่ายต่อการปั้น ให้เป็นก้อนกลม ๆ การทำขนมกะลอจี๊ เด็กก็จะได้ปั้นแป้งให้เป็นก้อนกลม ๆ ก่อนที่จะใช้ฝ่ามือกด ให้แบนเล็กน้อย ซึ่งเด็กจะต้องรู้จักควบคุมน้ำหนักแรงกดของฝ่ามือ เพื่อไม่ให้แป้งหนาหรือบางจนเกินไป การทำขนมไข่ปลา เด็กจะได้ฝึกคลึงแป้งให้เป็นเส้นยาว ๆ และปลายเรียวแหลมทั้งสองด้าน การนวด การคลึง และการปั้นแป้ง หรือส่วนประกอบเครื่องปรุงของอาหารเหล่านี้ โดยเฉพาะข้าวปั้นปลาทอด ทอดมันรวมมิตร มันบดทอดปูอัด ลักษณะของเครื่องปรุงจะแตกต่างออกไปจากขนมไข่นก ขนมกะลอจี๊ และขนมไข่ปลา เพราะส่วนผสมเกิดจากการผสมเครื่องปรุงหลาย ๆ อย่าง ที่เนื้อไม่ได้เนียนละเอียดเหมือนกับแป้ง จึงให้ความรู้สึกในการทำงานที่แตกต่างกันออกไป ทุกกิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตา ในการนวด คลึง และปั้นในลักษณะเดียวกัน ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ชุดที่ 2 เรื่อง ตอก ๆ ตี ๆ ไข่นี้แสนอร่อย กิจกรรมในชุดนี้ ทำให้เด็กได้มีโอกาสตอกไข่และตีไข่ผสมกับเครื่องปรุงด้วยตนเอง เป็นการใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตากระทำซ้ำ ๆ ในลักษณะเดียวกัน ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ชุดที่ 3 เรื่อง ฉีก แกะ ตัด ทอด ๆ ผัด ๆ สุดแสนอร่อย มีกิจกรรมจำนวน 8 กิจกรรม กิจกรรมประกอบอาหารในชุดนี้ เด็กจะได้มีโอกาสใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตา ในการฉีก การแกะ และใช้กรรไกรตัดเครื่องปรุงหรือส่วนผสมของอาหาร เด็กจะได้ใช้นิ้วมือฉีกปูอัด เนื้อหมู เห็ดนางฟ้าให้เป็นเส้น การแกะเมล็ดข้าวโพดออกจากฝัก การใช้กรรไกรตัดแผ่นเกี๊ยว แผ่นมัน แผ่นเผือก แผ่นฟักทองให้เป็นเส้นเล็ก ๆ ชุดกิจกรรมประกอบอาหาร ชุดที่ 4 เรื่อง ตัก ปาด พับ ม้วน ชวนอร่อย กิจกรรมในชุดนี้ทำให้เด็กได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตา ในการหยิบจับช้อนเพื่อตักเครื่องปรุง วางลงบนแผ่นเกี๊ยว แผ่นขนมปัง หรือแครกเกอร์ ได้ฝึกการพับ ม้วน แผ่นเกี๊ยวให้เป็นรูปร่างตามที่กำหนด การใช้นิ้วมือจุ่มน้ำแล้วลากเป็นรูปวงกลม หรือลากเป็นเส้นตรงบนแผ่นเกี๊ยว การจับแปรงทาไข่บนขอบขนมปัง จะเห็นว่าชุดกิจกรรมประกอบอาหารทั้ง 4 ชุด เปิดโอกาสให้เด็กปฐมวัยได้ฝึกพัฒนาความแข็งแรง และเสริมสร้างความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี ผ่านการเรียนรู้ที่สนุกสนาน และการลงมือปฏิบัติจริง จากความต้องการภายในของเด็กเอง เพราะกิจกรรมประกอบอาหาร เป็นกิจกรรมที่แปลกใหม่ ดึงดูดความสนใจของเด็ก สอดคล้องกับความต้องการของเด็กในวัยนี้ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ และลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ อย่างต่อเนื่อง ได้ใช้กล้ามเนื้อเล็ก มือ นิ้วมือ และสายตาซ้ำ ๆ จนพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กให้สูงขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด ของนิติธร ปิลวาสน์ (2557 : ออนไลน์) ที่กล่าวว่า เด็กจะได้รับการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ จากกิจกรรมประกอบอาหาร เช่น การประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือและตา จากการที่เด็กได้หั่นผัก ตักน้ำตาลหรือเกลือใส่ลงในกระทะ เทเครื่องปรุงทั้งหมดลงในหม้อ การเทน้ำส้มลงไปในแก้ว การปั้นแป้งทำขนมบัวลอย กิจกรรมต่าง ๆ นี้เป็นเรื่องของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ได้เป็นอย่างดี และสอดคล้องกับแนวคิดของกระทรวงศึกษาธิการ (2548 : 54) กุลยา ตันติผลาชีวะ (2551 : 104) และนลินี เชื้อวนิชชากร (2555 : 156) ที่กล่าวว่า การส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยนั้น สามารถทำได้โดยให้เด็กได้ฝึกฝนทักษะในการใช้มือหยิบจับ สัมผัส กับวัตถุ สื่อ และอุปกรณ์ที่หลากหลาย ตลอดจนการเคลื่อนไหวของมือ ให้ประสานสัมพันธ์กัน เช่น ทำกิจกรรมศิลปะ เล่นเกมการศึกษา ช่วยเหลือตนเองทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
จากที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่าชุดกิจกรรมประกอบอาหาร เป็นนวัตกรรมที่เหมาะสม ในการใช้จัดประสบการณ์การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี เพราะเปิดโอกาสให้เด็กรับประสบการณ์ตรง จากการลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเอง ได้ลงมือกระทำกับสื่อ วัสดุ เครื่องปรุง และอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า
ตาได้ดู หูได้ฟัง มือได้สัมผัส ลิ้นได้ชิมรส และจมูกได้ดมกลิ่นอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กมีโอกาส ได้ใช้มือ นิ้วมือ และสายตาในการประกอบอาหารทั้งคาวและหวานอย่างหลากหลาย ส่งผลให้ความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย หลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมประกอบอาหารสูงขึ้นกว่าก่อนเรียน
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
1. จากผลการวิจัยที่พบว่าชุดกิจกรรมประกอบอาหาร สามารถพัฒนาความสามารถ ในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัยให้สูงขึ้นได้ ครูจึงควรนำชุดกิจกรรมเหล่านี้ไปใช้และเลือกใช้วัสดุเครื่องปรุงที่มีในท้องถิ่น เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลง หรืออาจจะให้เด็กหรือผู้ปกครองมีส่วนร่วมจัดหาวัสดุเครื่องปรุงในการประกอบอาหาร
2. ในขั้นตอนการปรุงอาหารให้สุกซึ่งต้องใช้ความร้อน ควรเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม และมีความปลอดภัยสูง การจัดวางควรอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเด็ก ครูควรจะเป็นผู้ที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด หรือครูเป็นผู้ลงมือทำเองเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก
3. หากมีขั้นตอนที่ต้องใช้ของมีคม เช่น มีด หรือกรรไกร จะต้องมีข้อตกลงหรืออธิบายขั้นตอนในการใช้ให้เด็กเข้าใจจนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
4. การสร้างข้อตกลงในการประกอบอาหาร เนื่องจากการประกอบอาหารเป็นกิจกรรม ที่ต้องอาศัยขั้นตอนที่ชัดเจน การกำชับเรื่องข้อตกลงและวินัยขณะปฏิบัติกิจกรรมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อป้องกันปัญหาและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
ข้อเสนอแนะในการในการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรนำชุดกิจกรรมการประกอบอาหารที่สร้างขึ้น ไปทดลองใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการ ด้านอื่น ๆ เช่น พัฒนาการทางภาษา พัฒนาการทางสังคม เป็นต้น ซึ่งจะได้ทราบว่าชุดกิจกรรมการประกอบอาหารมีผลต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ หรือไม่เพียงใด เพื่อจะได้สร้างชุดกิจกรรมประกอบอาหารให้เหมาะสมกับพัฒนาการในเรื่องดังกล่าวได้
2. ควรมีการวิจัยเกี่ยวกับความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็กของเด็กปฐมวัย กับการใช้นวัตกรรมในรูปแบบอื่น ๆ เพื่อจะได้ศึกษาแนวทางการส่งเสริมความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อเล็ก ที่หลากหลายขึ้น ทั้งนี้เพื่อช่วยเสริมสร้างความสามารถการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเด็กให้เป็นไปได้อย่างราบรื่น
เอกสารอ้างอิง
กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546.
กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
________. (2548). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 (สำหรับเด็กอายุ 3-5 ปี).
พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
________. (2550). คู่มือดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง
เพื่อรองรับการกระจายอำนาจ สำหรับครูและศึกษานิเทศน์. นครปฐม: สถาบันพัฒนาครู
คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา.
กุลยา ตันติผลาชีวะ. (2551). การจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย.
กรุงเทพฯ: เบรน-เบส บุ๊คส์.
จุฑามาศ เรือนก๋า. (2553). การสร้างชุดกิจกรรมเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
สำหรับเด็กปฐมวัย. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
ชัยยงค์ พรหมวงศ์ และคณะ. (2553). ระบบสื่อการสอน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
นวพร เรืองสมบัติ. (2553). การสสร้างชุดกิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัย.
วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม.
ยุทธ ไกยวรรณ์. (2545). พื้นฐานการวิจัย. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สุวีริยาศาส์น.
โรงเรียนวัดปิยะวัฒนาราม. (2554). หลักสูตรสถานศึกษาการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546
(ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554). ชุมพร.
________. (2556). รายงานประจำปีของสถานศึกษา Self Assessment Report : SAR
ระดับปฐมวัย ประจำปีการศึกษา 2556. ชุมพร
สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา. (2552). รูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย
อายุ 3-5 ปี ตามสมรรถนะของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย. กรุงเทพฯ: พริกหวาน
กราฟฟิค.
________. (2555). รายงานผลการติดตามและประเมินผลนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนา
เด็กปฐมวัย (0-5 ปี) ระยะยาว พ.ศ. 2550-2559 ช่วงครึ่งแผน พ.ศ. 2550-2555.
กรุงเทพฯ: พริกหวานกราฟฟิคจำกัด.
สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ. (2551). 20 วิธีจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม
ค่านิยมการเรียนรู้โดยการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ:
โรงพิมพ์ภาพพิมพ์.