หลักการและเหตุผล
ตามที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดให้มีการวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียนไว้ 3 ระดับ คือ ระดับชั้นเรียน ระดับสถานศึกษา และระดับชาติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งในการวัดและประเมินผลระดับชั้นเรียนเป็นหน้าที่ของครูผู้สอนที่จะต้องหาคำตอบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทั้งด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ คุณธรรมและค่านิยมอันพึงประสงค์ เนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมากน้อยเพียงใด ส่วนการประเมินผลระดับสถานศึกษาจะทำการประเมินเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้าด้านการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกคนที่เรียนในชั้นปีสุดท้ายของแต่ละช่วงชั้น คือ ป.3 ป. 6 ม.3 และ ม.6
การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Education Test หรือ O-NET) เป็นการทดสอบความรู้ทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน ของผู้เรียนที่กำลังศึกษาใน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทุกคน ทุกสังกัด ต้องเข้ารับการทดสอบโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกที่ทำหน้าที่ในการประเมินระดับชาติ
สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2548 เพื่อเป็นองค์กรกลางในการศึกษาวิจัยพัฒนาและให้บริการประเมินผลทางการศึกษาและทดสอบทางการศึกษารวมทั้งเป็นศูนย์กลางความร่วมมือด้านการทดสอบทางการศึกษาในระดับชาติและนานาชาติและเป็นองค์การมหาชนว่าด้วยองค์การมหาชนเพื่อให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สทศ. รับผิดชอบประเมินผลการศึกษาในระดับชาติอื่นๆที่นอกเหนือจากการทดสอบ O-NET ด้วยเช่นจัดสอบ A-NET เป็นต้นสำหรับการจัดสอบ O-NET นั้นได้เริ่มต้นดำเนินการครั้งแรกในปีการศึกษา 2548 โดยจัดสอบ O-NET นักเรียน ชั้น ม.6 ในเดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ทำการทดสอบจำนวน 5 กลุ่มสาระประกอบด้วย 1) ภาษาไทย 2) คณิตศาสตร์ 3) วิทยาศาสตร์ 4) สังคมศึกษาศาสนาและวัฒนธรรมและ 5) ภาษาอังกฤษและในปีต่อมาได้เพิ่มการจัดสอบ O-NET เพิ่มในกลุ่ม2 นักเรียน ชั้น ป. 6 อีกจำนวน 3 สาระและได้เพิ่มเติมการจัดสอบกับนักเรียนชั้นอื่นๆเพิ่มเติมและเพิ่มการสอบในสาระที่ยังไม่ได้จัดสอบอีก 3 สาระคือ 1) สาระสุขศึกษาและพลศึกษา 2) สาระศิลปะและ 3) สาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยีเพื่อให้ครบทั้ง 8 สาระในปีต่อๆมา
ตามที่ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกประกาศ เรื่อง การใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2555 ให้ใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษาและผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน ในสัดส่วน 80 : 20 และตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การปรับสัดส่วนการใช้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการตัดสินผลการเรียนของผู้เรียนที่จบการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2556 ให้ใช้ผลการเรียนของผู้เรียนที่ประเมินโดยสถานศึกษาและผลการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน ในสัดส่วน 70 : 30 ในปีการศึกษา 2557 และให้ใช้สัดส่วน 50 : 50 ในปีการศึกษา 2558 เป็นต้นไป รวมทั้งประกาศกระทรวงศึกษาธิการล่าสุด ประกาศ ณ วันที่ 29 มกราคม 2559 เรื่องการปรับสัดส่วนการใช้ผลการทดสอบระดับชาติ (O-NET) เป็น 70 : 30
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) มีความสำคัญและความจำเป็นอย่างยิ่งในการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนและสถานศึกษา อีกทั้งยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนามาตรฐานและคุณภาพของผู้เรียนตลอดจนนำไปสู่ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
ปัญหาและความต้องการ
ตามวิสัยทัศน์ ของโรงเรียนวัดสวนดอก ภายในปี 2559 โรงเรียนวัดสวนดอก เป็นที่สุดแห่งโรงเรียนมาตรฐานการศึกษา คู่ภูมิปัญญาล้านนา น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความเป็นเลิศ
จากสถิติผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนโรงเรียนวัดสวนดอก ในปีการศึกษา 2552-2556 มีค่าเฉลี่ยคะแนนอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่องโดยในปีการศึกษา 2552 มีค่าเฉลี่ยคะแนนระดับโรงเรียนเพียง 29.56 (ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 35.88 ) และในปีการศึกษา 2554 มีค่าเฉลี่ยระดับโรงเรียน 37.43 (ค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 52.40 นั่นคือ ค่าเฉลี่ยโรงเรียนต่ำกว่าระดับประเทศถึง 14.97) ( ดังเอกสารอ้างอิง ที่ 4 และ 5 ) และตามแผนภูมิแสดงผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2552-2557 โรงเรียนวัดสวนดอก
เมื่อนำค่าเฉลี่ยของคะแนนระดับโรงเรียนเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของคะแนนระดับประเทศแล้วนั้นปรากฏว่าในปีการศึกษา 2557 ค่าเฉลี่ยของคะแนนระดับโรงเรียนสูงกว่าระดับประเทศถึงร้อยละ 13.02 ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการทดสอบระดับชาติขั้นพื้นฐาน ตามแผนภูมิเปรียบเทียบผลการทดสอบทางการศึกษาระดับ ชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดสวนดอก ปีการศึกษา 2552-2557
วัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน
เพื่อให้ผู้เรียนมีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ โรงเรียนวัดสวนดอก ในปีการศึกษา 2558 สูงขึ้นกว่าปีการศึกษา 2557
เป้าหมายของการดำเนินงาน
เชิงปริมาณ
นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนวัดสวนดอก จำนวน 41 คน
เชิงคุณภาพ
ในปีการศึกษา 2558 โรงเรียนวัดสวนดอก มีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ สูงขึ้นกว่าปีการศึกษา 2557
ขั้นตอนของการดำเนินงาน
จากงานวิจัยในชั้นเรียน เรื่อง 5 กิจกรรมเตรียมความฟิต พิชิต O-NET ซึ่งครูผู้สอน (นายชัชวาล ธิมา) เป็นผู้ค้นคว้าวิจัยเอง ในปีการศึกษา 2557 และวิจัยเรื่อง ปัจจัยเชิงสาเหตุที่ทำให้คะแนนการทดสอบ O-NET ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่ำ วิจัยโดย เอื้อมพร หลินเจริญ , สิริศักดิ์ อาจวิชัย , ภีรภา จันทร์อินทร์ ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนในการทำวิจัย จากสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) 2552 ได้แบ่งปัจจัยเชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์การสอบ O-NET ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต่ำ ดังนี้
1. ปัจจัยเกี่ยวกับนักเรียน
1.1) การเห็นความสำคัญของการสอบ O-NET นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ยังให้ความสำคัญต่อการสอบน้อยเพราะเขาเหล่านั้นยังไม่รู้เลยว่าจะนำผลจากการสอบไปใช้ทำอะไรเมื่อไหร่
1.2) พื้นฐานความรู้ของนักเรียน
เมื่อพิจารณาคะแนนของนักเรียนที่อยู่ภายในโรงเรียนเดียวกัน เด็กที่มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ย (GPA) สูงจะมีคะแนน O-NET สูงด้วยในขณะที่เด็กที่มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยต่ำกว่าก็จะมีคะแนน O-NET ต่ำ
1.3) สภาพแวดล้อมของครอบครัวเด็ก
นักเรียนที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกันอยู่ หรือพ่อแม่ไปทำงานแดนไกลครอบครัวที่หย่าร้างไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกๆมีปัญหาทางเศรษฐกิจมาก นักเรียนเหล่านี้มักขาดโอกาสในการเรียนพิเศษการเรียนเสริมและขาดความอบอุ่นในครอบครัว จึงทำให้เด็กเครียดกังวลและเรียนไม่ได้ดีคะแนน O-NET ต่ำเมื่อเทียบกับเด็กที่มาจากครอบครัวที่พ่อแม่ให้การสนับสนุนให้กำลังใจโดยไม่ตัดสินลูกมากเกินไปเด็กกลุ่มนี้จะมีความมั่นใจมีทัศนคติในทางบวกและเรียนได้ดี
1.4) สภาพแวดล้อมของโรงเรียน
โรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่นอกเมืองจะมีการแข่งขันทางด้านวิชาการ และมีความกระตือรือร้นความเอาใจใส่ในการเรียนน้อยส่งผลให้คะแนน O-NET ต่ำเมื่อเทียบกับโรงเรียนขนาดกลางและโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองที่มีการแข่งขันทางด้านวิชาการสูงตัวป้อน (นักเรียน) ของโรงเรียนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 เปอร์เซ็นต์จะมีนักเรียนที่มีความตั้งใจกระตือรือร้น และให้ความสำคัญกับการสอบ O-NET มากจึงส่งผลให้ผลการสอบ O-NET ในโรงเรียนนั้นสูงจนเป็นที่น่าพอใจของคณะครูในโรงเรียน
2. ปัจจัยเกี่ยวกับครูผู้สอน
2.1) พฤติกรรมการสอนของครู
ครูส่วนใหญ่พยายามคิดหาวิธีการสอนที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความรู้เกิดทักษะในการเรียนแต่ยังพบว่า ยังมีครูที่ใช้วิธีการสอนแบบบรรยายมุ่งเน้นให้เด็กท่องจำจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นครูเป็นปัจจัยสำคัญมากกว่าการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ในรายวิชาที่ต่างกันครูก็จะมีเทคนิคการสอนที่แตกต่างกันออกไปแต่ที่เป็นปัญหา ทำให้ผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนไม่ดีขึ้นหรือคะแนนสอบ O-NET ต่ำอาจจะเนื่องมาจากความพร้อมของนักเรียน ความพร้อมของโรงเรียนทางด้านสื่ออุปกรณ์ความเพียงพอทางด้านบุคลากร โดยเฉพาะโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กอยู่นอกเมือง จะประสบปัญหาดังกล่าวมากกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเมือง
2.2) ภาระงานของครูมีมาก
โรงเรียนหลายแห่งครูมีงานอื่นๆ เช่นงานพัสดุงานการเงินงานธุรการรวมถึงงานโครงการพิเศษของโรงเรียนไม่ว่าจะเป็นโครงการอาหารกลางวัน โครงการที่ทำร่วมกับชุมชนซึ่งเป็นงานที่ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมจากงานการสอน ทำให้ครูมีเวลาในการสอนน้อยลงไม่สามารถสอนได้เต็มที่จึงส่งผลให้คะแนน O-NET ของนักเรียนในโรงเรียนดังกล่าวต่ำลงไปด้วย
2.3) คุณวุฒิของครูไม่ตรงตามสาระการสอน/ ครูไม่ครบตามกลุ่มสาระ
ในโรงเรียนขนาดเล็กโรงเรียนขนาดกลางหลายแห่งที่นักเรียนมีคะแนนการสอบ O-NET ต่ำพบว่ามีจำนวนครูไม่พอเพียงในบางกลุ่มสาระผู้บริหารต้องแก้ไข โดยการนำครูในกลุ่มสาระอื่นไปสอนในกลุ่มสาระที่ครูขาดทำให้คุณวุฒิของครูไม่ตรงตามสาระการสอน ส่งผลถึงคุณภาพการสอนของครูทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่ดีขึ้น
2.4) การเข้าถึงข้อมูลของครูยังมีน้อย
โรงเรียนบางแห่งที่นักเรียนคะแนน O-NET ต่ำไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการสอบบางโรงเรียนมีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ตที่ไม่สามารถใช้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว หรือแม้แต่ครูบางคนมีปัญหาเรื่องการใช้คอมพิวเตอร์ในการสืบค้นข้อมูลอีกด้วย
3. ปัจจัยเกี่ยวกับผู้บริหาร
นโยบายของโรงเรียนในการพัฒนาคุณภาพวิชาการ ในโรงเรียนมัธยมศึกษาส่วนใหญ่ผู้บริหารมุ่งเน้นที่จะให้ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนให้ที่สูงขึ้นแต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความพร้อมของโรงเรียนและบุคลากรอย่างก็ตามในการจัดการเรียนการสอน ผู้บริหารโรงเรียนส่วนใหญ่จะดำเนินตามนโยบายของกระทรวงที่มุ่งเน้นให้เกิดความเสมอภาคนักเรียนทุกคนได้รับความรู้อย่างทั่วถึง ไม่เน้นการจัดการเรียนการสอนที่ตัวบุคคลเพื่อที่จะทำให้มีผลการสอบ O-NET ที่สูงขึ้นอย่างเดียว
4. ปัจจัยเกี่ยวกับข้อสอบ
4.1) ระดับความยากของข้อสอบพบว่ามีความคิดเห็นที่หลากหลายโดยส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าข้อสอบ O-NET มีความยากง่ายแตกต่างกันไปวิชาที่นักเรียนส่วนใหญ่คิดว่ายากมากคือวิชาภาษาอังกฤษและวิชาคณิตศาสตร์รวมถึงข้อสอบที่ออกในแนวคิดวิเคราะห์ ซึ่งผู้สอนมีความคิดเห็นว่าค่อนข้างยากเกินกว่าที่นักเรียนจะสามารถทำได้
4.2) ช่วงเวลาในการสอบและการแจ้งผลการสอบล่าช้าทำให้เด็กไม่เห็นความสำคัญนอกจากนี้การแจ้งผลการสอบที่ล่าช้าทำให้ผู้บริหารและครูไม่สามารถให้ข้อมูลย้อนกลับกับนักเรียน เพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาได้ทันท่วงที
ครูผู้สอนได้นำผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้น มาวิเคราะห์หาสภาพปัญหาในปัจจุบันของโรงเรียนวัดสวนดอกต่อเนื่องจากปีการศึกษา 2557 พร้อมทั้งศึกษาปัจจัยต่างๆ เพื่อให้การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) สูงขั้นกว่าปีการศึกษา 2557 ซึ่งจากผลการวิจัยข้างต้น พบว่า สาเหตุหลักของปัญหาที่จะทำให้ผลสัมฤทธิ์การทดสอบระดับชาติต่ำนั้น มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ได้แก่
1) พื้นฐานความรู้ของนักเรียน
2) สภาพแวดล้อมของครอบครัวเด็ก
3) ภาระงานของครูมีมาก
4) พฤติกรรมการสอนของครู
แต่ครูผู้สอนก็ได้เลือกปัจจัยที่ครูผู้สอนสามารถแก้ไขปัญหาและเป็นเรื่องใกล้ตัวมากที่สุด ที่จะนำมาพัฒนาและปรับปรุง เช่นเดียวกันกับปีการศึกษา 2557 ซึ่งได้แก่ พฤติกรรมการสอนของครู การจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูผู้สอนมีส่วนสำคัญมากในการเรียนรู้ของผู้เรียน ครูผู้ต้องพยายามคิดหาวิธีการสอนที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความรู้และทักษะในการเรียน อีกทั้งยังต้องใช้สื่อการเรียนการสอนอย่างหลากหลาย เพื่อสร้างความเข้าใจในองค์ความรู้หรือเนื้อหาในบทเรียน และกระตุ้นความสนใจใฝ่รู้ของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมี แรงจูงใจ ในการเรียนและการพัฒนาตนเอง
คำว่า แรงจูงใจ มาจากคำกริยาในภาษาละตินว่า Movere (Kidd, 1973:101) ซึ่งมีความ หมายตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า to move อันมีความหมายว่า เป็นสิ่งที่โน้มน้าวหรือมักชักนำบุคคลเกิดการกระทำหรือปฏิบัติการ (To move a person to a course of action) ดังนั้นแรงจูงใจจึงได้รับความสนใจมากในทุกๆวงการ
ไมเคิล คอมแจน (Domjan 1996:199) อธิบายว่าการจูงใจเป็นภาวะในการเพิ่มพฤติกรรมการกระทำกิจกรรมของบุคคลโดยบุคคลจงใจกระทำพฤติกรรมนั้นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
สำหรับโลเวลล์ (Lovell, 1980:109) ให้ความหมายของแรงจูงใจว่าเป็นกระบวนการที่ชักนำโน้มน้าวให้บุคคลเกิดความมานะพยายามเพื่อที่จะสนองตอบความต้องการบางประการให้บรรลุผลสำเร็จ
เห็นได้ชัดว่า การจูงใจเป็นกระบวนการที่บุคคลถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้า โดยจงใจให้กระทำหรือดิ้นรนเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์บางอย่าง ซึ่งจะเห็นได้ว่าพฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจเป็นพฤติกรรมที่มิใช่เป็นเพียงการตอบสนองสิ่งเร้าปกติธรรมดา ยกตัวอย่างลักษณะของการตอบสนองสิ่งเร้าปกติ คือ การขานรับเมื่อได้ยินเสียงเรียก แต่การตอบสนองสิ่งเร้าจัดว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการจูงใจเช่น พนักงานตั้งใจทำงานเพื่อหวังความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ
ครูผู้สอนจึงได้คิดรูปแบบและหาวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมี แรงจูงใจ ในการเรียน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเพื่อให้ผู้เรียนมีผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ สูงขึ้นกว่าปีการศึกษา 2557 โดยมีขั้นตอนและรูปแบบการจัดกิจกรรม ดังผังมโนทัศน์ ต่อไปนี้
ผังมโนทัศน์
5 กิจกรรมเตรียมความฟิต พิชิตโอเน็ต
จากผังมโนทัศน์ ครูผู้สอนได้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนสอนปกติเป็นการสอนแบบ การจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้ 5 กิจกรรมเตรียมความฟิต พิชิตโอเน็ต ซึ่งมีรายละเอียดกิจกรรม ดังนี้
1. กิจกรรม รู้เขา รู้เรา รบร้อยบ่มิพ่าย
2. กิจกรรม เปิดกะโหลกเซียน
3. กิจกรรม แฉข้อสอบ
4. กิจกรรม คืนหมาหอน
5. กิจกรรม ปิดโจทย์ ทุบหม้อข้าว
ผลการดำเนินงานและประโยชน์ที่ได้รับ
หลังจากครูผู้สอนได้ใช้กิจกรรม 5 กิจกรรมเตรียมความฟิต พิชิตโอเน็ต ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนวัดสวนดอก จำนวน 41 คน ทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้น และมีแรงจูงใจในการศึกษาหาความรู้ ซึ่งส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ตลอดจนผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ดังนี้
ในปีการศึกษา 2558 คะแนนเฉลี่ยของผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เป็น 63.67 (เอกสารอ้างอิงที่ 8) ซึ่งระดับคะแนนสูงกว่าปีการศึกษา 2557 ร้อยละ 12.59 (ปีการศึกษา 2557 มีค่าเฉลี่ยเป็น 51.08 ) และถือว่าเป็นคะแนนที่สูงที่สุดของโรงเรียนวัดสวนดอก นับตั้งแต่เริ่มมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
อีกทั้งในปีการศึกษา 2558 ยังมีนักเรียนที่มีผลการทดสอบระดับชาติ กลุ่มสาระคณิตศาสตร์ ยอดเยี่ยมจำนวนทั้งสิ้น 9 คน ซึ่งได้คะแนน ร้อยละ 100 จำนวน 1 คน ร้อยละ 95 จำนวน 2 คน ร้อยละ 90 จำนวน 5 คน และร้อยละ 80 จำนวน 1 คน
จากข้างต้นเห็นได้ชัดว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพิ่มขึ้น หลังจากที่เคยมีผลการทดสอบอยู่ในระดับต่ำกว่าเกณฑ์มาอย่างต่อเนื่องหลายปี ถือว่าในปีการศึกษา 2557-2558 นี้เป็นการ พลิกโฉม โรงเรียนวัดสวนดอก ให้มีคุณภาพ และมาตรฐานที่ดีขึ้น เป็นที่ยอมรับของชุมชน ผู้ปกครอง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
บทเรียนที่ได้รับ
การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการเพิ่มผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาตินั้น เป็นเรื่องไม่ยาก แต่ครูผู้สอนต้องศึกษาสภาพปัญหาที่พบและหาแนวทางในการแก้ไข ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็จะมีปัญหาที่แตกต่างกัน การใช้เทคนิค และวิธีการก็อาจแตกต่างกันรวมไปถึงสื่อการเรียนการสอน ฉะนั้นครูผู้สอนต้องมีการเตรียมสื่อการสอนที่หลากหลาย น่าสนใจ จึงจะทำให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจ ในการเรียนและที่สำคัญต้องมีความสอดคล้องกับสภาพบริบท ตัวชี้วัด เนื้อหา และกิจกรรม รวมไปถึงการนำข้อสอบเก่ามาสอดแทรกในกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเคยชิน อันจะส่งผลให้ผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติสูงขึ้น
ข้อเสนอแนะ
นักเรียนแต่ละโรงเรียนมีความสนใจที่แตกต่างกัน ครูผู้สอนควรปรับชื่อกิจกรรมให้น่าสนใจตามสภาพบริบทและความสนใจของผู้เรียนเพื่อให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจในการเรียน