ชื่อผลงาน การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
หน่วยงาน โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ
สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 2
1. ความเป็นมาและบริบทของโรงเรียน
การดำเนินงานกิจกรรมการสร้างวินัยด้านการบริหารจัดการขยะ น้ำเสียและมลพิษทางอากาศ มีจุดประสงค์เน้นการสร้างวินัยให้เกิดขึ้นในโรงเรียนให้กับนักเรียน เยาวชนเป็นสำคัญ เพราะเยาวชนเป็นพลเมืองแห่งอนาคต ดังนั้น การที่พลเมืองที่ดี มีวันัย ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะที่เน้นวินัยเรื่องการจัดการขยะ แยกขยะ ธนาคารขยะ และการมีจิตสำนึกด้านการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลได้มีนโยบายเน้นด้านการบริหารจัดการขยะ น้ำ น้ำเสีย พลังงานและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มุ่งเน้นการทำงานบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องในการสร้างพลเมืองที่มีคุณภาพในการให้ความรู้ สร้างเจตคติ นำไปสู่การมีความตระหนักและมีจิตสำนึกที่ดีในด้านการจัดการขยะ น้ำ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ พลังงานและอนุรักษ์ความหลากหลายทางธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายเชิงนโยบายให้ทุกโรงเรียนทั่วประเทศดำเนินการเรื่องการสร้างวินัยด้านการจัดการขยะ น้ำเสีย มลพิษทางอากาศ
โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 2 ได้เห็นความสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการสร้างจิตสำนึกให้เกิดกับบุคลากรและนักเรียน โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ จึงได้ประกาศเป็นมาตรการ เรื่อง การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และได้ดำเนินการด้านการจัดการขยะขึ้น
ขยะมูลฝอยสามารถพบได้ทั่วไปแต่ส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจน คือ บริเวณโรงเรียนและในโรงเรียนจะมีขยะมากกว่าทุกที่ เพราะในโรงเรียนมีนักเรียนจำนวนมาก มีการบริโภคอาหาร นม และขนมต่าง ๆ ของเด็กนักเรียน จึงทำให้มีขยะมูลฝอยตามมา และพฤติกรรมของนักเรียนส่วนใหญ่จะไม่นำขยะไปทิ้งลงถัง แต่จะทิ้งลงพื้นแทน เพราะเด็กสมัยนี้เป็นคนมักง่ายจนเกินไป กินที่ไหนก็ทิ้งที่นั่น จึงทำให้บริเวณโรงเรียนสกปรกมากขึ้น
หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพระราชดำรัสชี้แนวทางการดำรงชีวิต ให้แก่ปวงชนชาวไทยนักบตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา ซึ่งมี หลักแนวคิดในการพัฒนาโรงเรียนตามแนวทาง หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามห่วง สองเงื่อนไข ดังนี้
ความพอประมาณ : กิจกรรมจะเน้นให้นักเรียนปฏิบัติงานบนพื้นฐานความพอเหมาะพอควร ไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองและผู้อื่น ทำกิจกรรมที่มีอยู่ให้พอเหมาะกับสภาพของตนเองไม่ทำการใด ๆ ที่เกินตัว เห็นคุณค่าและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
ความมีเหตุผล : กิจกรรมให้นักเรียนในโรงเรียนจะดำเนินงานอย่างมีเหตุมีผล โดยพิจารณาจากเหตุ และศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะได้รับ
การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี : กิจกรรมที่นักเรียนจะไม่ปฏิบัติตนบนความเสี่ยง แต่จะเตรียม ความพร้อมเพื่อรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของตนเองที่จะเป็นลูกที่ดี เป็นนักเรียนที่ดี นักเรียนจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองโดยยึดหลักความรู้คู่คุณธรรม
สำหรับเงื่อนไข ความรู้ : มีกิจกรรมที่สร้างนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้นักเรียนหาความรู้เพิ่มเติมเสมอ เพื่อพัฒนาตนเองให้รอบรู้ทันสมัยทันเหตุการณ์ โดยใช้อินเทอร์เน็ตในการค้นคว้าหาความรู้ อ่านหนังสือทุกวัน ดูงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ใช้ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการทำงาน มีความระมัดระวัง ในการปฏิบัติทุกขั้นตอน
ส่วนเงื่อนไข คุณธรรม : มีกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณลักษณะพื้นฐานของนักเรียน ทั้งด้านจิตใจและ การกระทำ ประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม ตั้งมั่นในความดี มีความขยัน ซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความพากเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง
โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ เป็นสถานศึกษาแบบอย่างการจัดการเรียนการสอนและบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สถานศึกษาพอเพียง ที่มีการบริหารจัดการศึกษาด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพยง ตั้งอยู่เลขที่ 20/1 ถนนภูมิบาล ตำบลบางมูลนาก อำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เป็นโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดที่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลอำเภอบางมูลนาก ที่อยู่ในชุมชน ถือเป็นชุมชนตลาด ที่มีบ้านเรือนและความเป็นอยู่หนาแน่น มีร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ จึงเป็นแหล่งซื้อและจับจ่ายใช้สอยได้ง่าย ทำให้เกิดขยะได้มาก
จากการศึกษาโดยวิธีการสำรวจพื้นที่ โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ พบว่า ขยะที่พบ ในโรงเรียนส่วนมากเกิดจากนักเรียนซื้ออาหารมารับประทาน ขยะส่วนใหญ่ที่พบเป็นถุงพลาสติก แก้วน้ำพลาสติก ขวดพลาสติก หลอดดูด ไม้ไอติม ไม้เสียบลูกชิ้น กล่องโฟม ถุงใส่อาหารสำเร็จรูป อาหารกรอบ กล่องนม ถุงนมและเศษกระดาษ มีบางส่วนที่บุคคลภายนอก เช่น ผู้ปกครองนักเรียน ประชาชนที่มาเล่นกีฬานอกเวลา เช่นตอนเย็นและเสาร์อาทิตย์ นำมาและทิ้งเศษขยะไว้ โดยส่วนมากนักเรียนจะทิ้งในถังขยะ มีบางส่วนที่ทิ้งนอกถังขยะ ระยะเวลาที่ทิ้งได้แก่ ช่วงเช้าก่อนเข้าแถว นักเรียนจะซื้ออาหารมาทานพร้อมกับ ทำเวรเขตพื้นที่โดยบางคนมีเจตนาทิ้ง บางคนวางแล้วลืม พักกลางวัน หลังรับประทานอาหารกลางวัน เด็กจะซื้ออาหารถือไปพร้อมกับเล่น หรือร่วมกิจกรรมอื่น ๆ หลังเสียงออดแปรงฟันนักเรียนรีบไปและจะทิ้ง หรือลืมทิ้งถังขยะ และภาคบ่ายถึงตอนกลับบ้าน เวลากลับบ้านผู้ปกครองบางคนซื้ออาหารมาฝากนักเรียนก็เกิดการทิ้งอีกโดยมีลักษณะการทิ้งเช่นเดียวกัน
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นคณะผู้บริหารและครูได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับวิธีกำจัดขยะในโรงเรียนให้ลดน้อยลง โดยการหาวิธีการบริหารจัดการขยะที่เป็นปัญหาให้ลดน้อยลง หรือใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ด้วยหลักการบูรณาการจากแนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การปลูกฝังคุณลักษณะพึงประสงค์ผู้เรียน ค่านิยมของคนไทยและความเป็นพลเมืองที่ดีของคนไทย เพื่อปลูกฝังให้นักเรียนมีคุณลักษณะดังกล่าว ที่จะเป็นพื้นฐานที่ดีในอนาคต สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ทำให้เกิดความสวยงาม สร้างเสริมสุขภาพอนามัยของบุคคลให้อยู่อย่างมีความสุขจากการมีส่วนร่วมของคณะบริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครองนักเรียน ในการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ ตลอดไป
2. วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
วัตถุประสงค์
1. เพื่อสร้างจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้เกิดแก่นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน
2. เพื่อให้นักเรียนเกิดความตระหนัก มีจิตสำนึก เรื่องความสะอาดและการคัดแยกขยะ
3. เพื่อให้โรงเรียนเป็นสถานศึกษาที่ปราศจากขยะ โรงเรียนสวยงาม ร่มรื่นปลอดภัย มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น
4. เพื่อลดการแพร่กระจาย ของเชื้อโรค และสะดวกแก่การนำไปกำจัด/นำกลับไปใช้ใหม่
5. เพื่อให้นักเรียนสามารถนำขยะที่มีประโยชน์ไปรีไซเคิล ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด
6. เพื่อสร้างความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะให้เป็นระบบ
เป้าหมาย
1. เชิงปริมาณ
- นักเรียนโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ ระดับชั้นอนุบาล 1 - ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 1,145 คน บุคลากรในโรงเรียน จำนวน 93 คน ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนปลอดขยะ
2. เชิงคุณภาพ
- บุคลากรและนักเรียนร้อยละ 80 ปฏิบัติตามนโยบาย และกฏระเบียบในการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนจนติดเป็นนิสัยที่ดี และมีวินัยในการทำงานและรักษาความสะอาด
3. ขั้นตอนการพัฒนาระบบเกี่ยวกับการจัดการขยะ
วิธีการพัฒนาตามข้อตกลงของโครงการดังกล่าว โรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ มีแนวทางการพัฒนาผู้เรียน โดยมีระบบบริหารงานสถานศึกษาตามโครงสร้างการบริหารงาน แบ่งออกเป็น 4 งาน ได้แก่ งานวิชาการ งานบุคลากร งานบริหารงบประมาณ และงานบริหารทั่วไป โดยมีกระบวนการพัฒนาคุณภาพเชิงระบบ ตามวงจรเดรมมิ่ง (DEMING CYCLE) เข้ามาจัดการทุกกิจกรรม โดยยึดหลักการ ความร่วมมือ cooperate (C) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มระดับคุณภาพ ที่ประสบความสำเร็จ ปรับปรุงคุณภาพที่ยังไม่ได้ตามมาตรฐานหรือเป้าหมายต่อไป
3.1 ขั้นการร่วมวางแผน (CP)
ได้เชิญประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและร่วมวางแผนพัฒนาคุณภาพ โดยได้จัดทำโครงการ การบริหารจัดการขยะในโรงเรียน ระบุกิจกรรมต่าง ๆ เสนอต่อคณะกรรมการสถานศึกษาเพื่ออนุมัติ
3.2 ขั้นร่วมดำเนินการ (CD)
3.2.1 กำหนดนโยบายด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแนวปฏิบัติของโรงเรียน
3.2.2 ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงาน โดยมอบหมายงานแต่ละคนรับผิดชอบในแต่ละกิจกรรม ประชุมวางแผนเตรียมการบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่ และงบประมาณ
3.2.3 ดำเนินกิจกรรมตามความรับผิดชอบโดยมีการดำเนินงานตามประเด็นในการพัฒนาโดยวิธี KTMS ดังนี้
1) ขั้นรับรู้ และการสร้างความตระหนัก (Knowledge and awareness)
ประชุมคณะครู มอบหมายความรับผิดชอบ อบรมสร้างความรู้ความเข้าใจนักเรียน นักเรียนได้เรียนรู้การคัดแยกขยะ มีการเรียนรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ โดยใช้เกมการคัดแยกขยะมาเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ มีสื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ สร้างความรับผิดชอบในเรื่องขยะ โดยใช้เวลาหน้าเสาธง โฮมรูม การประชุม โดยต่อเนื่อง จัดการโดยครูประจำชั้น และบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในชั้นเรียน เช่น กิจกรรมขยะมีประโยชน์
2) ขั้นฝึกซ้อม (ลดปัญหา) (Training)
ทดลองการจัดการขยะด้วยวิธีการที่หลากหลาย ได้แก่
2.1) การคัดแยกขยะ เป็นขยะที่นำไปใช้ใหม่ได้ด้วยวิธีการอื่น ๆ เช่น ประดิษฐ์เป็น ของเล่น ของใช้ โดยการให้ความรู้แก่นักเรียนในการใช้ นำไปใช้ ประดิษฐ์ ในกิจกรรมหน้าเสาธงตอนเช้า
2.2) ลดการใช้ขยะไม่ย่อยสลาย ให้ความรู้แก่นักเรียนรู้จักขยะที่ไม่ย่อยสลายและขยะที่ย่อยสลาย ขยะที่มีพิษ นำไปสู่การปฏิบัติเลือกใช้และสนับสนุนการใช้ขยะไม่มีพิษและย่อยสลายได้
2.3) ทิ้งขยะในถังขยะให้ถูกที่ ฝึกวินัยในการรักษาความสะอาด เลือกทิ้งขยะในถัง ที่คัดแยกขยะ ตรงกับขยะในมือ
2.4) ช่วยกันทำความสะอาดในเขตรับผิดชอบ กำหนดพื้นที่โดยโครงการประชาธิปไตยมอบหมายรายชั้นในการทำและรักษาความสะอาด สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง
2.5) พบขยะที่ไหนเก็บที่นั่น เป็นการปลูกฝังวินัยและจิตสาธารณะให้กับนักเรียน แม้การเดินทางจากบ้านมาโรงเรียน
2.6) ยึดมั่นคำว่า สะอาดสร้างสุขภาพแข็งแรง เป็นการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ด้วยหลักสามห่วง สองเงื่อนไข
การดำเนินงานในขั้นนี้จะมีผู้รับผิดชอบได้แก่ ครูประจำเขตพื้นที่ ครูเวรประจำวัน และคณะนักเรียนแกนนำโครงการประชาธิปไตยคอยติดตาม
3) ขั้นจัดการ (กำจัดปัญหา) (Management)
3.1) การจัดการขยะที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด ด้วยการจัดที่สำหรับเก็บขยะเตรียมเก็บโดยหน่วยเก็บขยะของชุมชน ด้วยการจัดถังสำหรับการแยกขยะก่อนทิ้ง ประกอบไปด้วย ถังสำหรับทิ้งขยะทั่วไป ถังสำหรับทิ้งขวดแก้ว ถังสำหรับทิ้งขวดพลาสติก และถังสำหรับทิ้งถุงนม
3.2) การบริหารจัดการขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
- ส่วนที่เหลือจากการนำกลับมาใช้ในโรงเรียนด้วยวิธีการจำหน่ายให้กับโรงรับซื้อขยะ
- บูรณาการสอนด้วยการนำขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ ด้วยการประดิษฐ์เป็นของเล่น และของใช้ที่มีประโยชน์ ในกิจกรรม ขยะมีประโยชน์
- จัดกิจกรรมประกวดชุดรีไซเคิล Miss Green Learning Room 2016 ซึ่งจัดให้มีการประกวดในงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
การดำเนินการในขั้นนี้มีครูผู้รับผิดชอบโครงการ และครูประจำวิชา เป็นผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรม
4) ขั้นสร้างความยั่งยืน (Sustainability)
การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างความก้าวหน้าในการดำเนินการ อย่างต่อเนื่องด้วยวิธีการดังนี้
- กำหนดเป็นมาตรการ การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ของโรงเรียนอนุบาลบางมูลนาก ราษฎร์อุทิศ เพื่อให้นักเรียนและบุคลากรทุกคน ได้ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน
- ให้การรณรงค์เกี่ยวกับการจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วยการให้ความรู้หน้าเสาธง และทำเป็นแผ่นพับประชาสัมพันธ์ในโรงเรียน และชุมชน ด้วยหลักการ 4R ดังนี้
Reduce - การลดปริมาณขยะ โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีบรรจุภัณฑ์สิ้นเปลือง
Reuse - การนำมาใช้ซ้ำ เช่น ขวดแก้ว กล่องกระดาษ กระดาษพิมพ์หน้าหลัง
Repair - การซ่อมแซมแก้ไขสิ่งของต่าง ๆ ให้สามารถใช้งานต่อได้ ไม่ให้กลายเป็นขยะ
Recycle - การแปรสภาพและหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยนำไปผ่านกระบวนการผลิตใหม่ อีกครั้ง
ในขั้นนี้ครูผู้รับผิดชอบได้บันทึกข้อมูลการดำเนินกิจกรรมทุกขั้นตอน พร้อมภาพถ่าย
3.3 ขั้นการร่วมตรวจสอบ (CC)
ใช้การนิเทศโดยคณะผู้บริหารเพื่อนครู ผู้ปกครองนักเรียน เป็นการประเมินผลร่วมกันทุกระยะ
3.4 ขั้นตอนประเมินและปรับปรุง (CA)
เป็นการวัดและประเมินผลการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ โดยคณะกรรมการประเมินจัดทำและรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอที่ประชุม นำมาวิจัย เพื่อพัฒนาปรับปรุงงานที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายและพัฒนา ต่อยอดงานที่ประสบความสำเร็จและทำการสรุปและรายงานผล
4. ผลการดำเนินการ/ประโยชน์ที่ได้รับ
4.1 บุคลากร และนักเรียนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
4.2 มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี
4.3 สภาพแวดล้อมดีขึ้น ไม่มีมลพิษในสิ่งแวดล้อม
4.4 นักเรียนตระหนัก มีจิตสำนึก เรื่องความสะอาดและการคัดแยกขยะ
4.5 นักเรียนสามารถนำขยะที่มีประโยชน์ไปรีไซเคิล ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด
4.6 เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการขยะให้เป็นระบบ ภายในโรงเรียน
5. ปัจจัยความสำเร็จ และการได้รับการยอมรับ
5.1 ได้รับการสนับสนุนในทุกด้านจากผู้บริหาร
5.2 นักเรียนและบุคลากรให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมด้วยดี
5.3 ผู้ปกครองให้การสนับสนุนในการจัดกิจกรรมและส่งเสริมนักเรียนในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม
5.4 โรงเรียนมีระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ
5.5 ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต้นสังกัด โดยได้รับการคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบโรงเรียนปลอดขยะ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 2