บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
การประเมินโครงการเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนสามัคคีอนุสรณ์ ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบทของโครงการตามตัวชี้วัดระดับความต้องการจำเป็น และระดับความเป็นไปได้ ประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการตามตัวชี้วัดระดับความเหมาะสมของครูผู้รับผิดชอบ และระดับความเหมาะสมของงบประมาณ ประเมินด้านกระบวนการของโครงการตามตัวชี้วัดระดับความเหมาะสมของกิจกรรมที่ดำเนินการ และระดับความเหมาะสมของการนิเทศติดตาม และประเมินด้านผลผลิตของโครงการตามตัวชี้วัดร้อยละของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มขึ้น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และผลกระทบ (Impact) ต่อโครงการเกี่ยวกับความพึงพอใจของผู้เกี่ยวข้อง โดยประยุกต์ใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ ประกอบด้วย ครู จำนวน 14 คน โดยใช้ตารางของเครจซี่และมอร์แกน ที่ความเชื่อมั่น 95 % แล้วใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยวิธีการจับฉลาก นักเรียน จำนวน 126 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบเจาะจงโดยเลือกนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มัธยมศึกษาปีที่ 3 เพราะว่าสามารถให้ข้อมูลได้และสามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในโครงการได้ครบถ้วน กรรมการสถานศึกษา จำนวน 7 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง และผู้ปกครอง จำนวน 126 คน ได้มาโดยใช้วิธีการเดียวกันกับนักเรียนสุ่มแบบเจาะจงเฉพาะผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มัธยมศึกษาปีที่ 3 รวมทั้งสิ้น จำนวน 273 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามชนิดมาตรประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 7 ฉบับ แบบบันทึกข้อมูล จำนวน 3 ฉบับ และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าตัวกลางเลขคณิต ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบทีแบบไม่อิสระ
ผลการประเมิน พบว่า
1. ผลการประเมินด้านบริบท พบว่า ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัดเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ระดับความต้องการจำเป็น (x̄ = 4.61) และระดับความเป็นไปได้ (x̄ = 4.38) ซึ่งตัวชี้วัดระดับความต้องการจำเป็นผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนตัวชี้วัดระดับความเป็นไปได้ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัดเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ระดับความเหมาะสมของครูผู้รับผิดชอบ (x̄ = 4.39) และระดับความเหมาะสมของงบประมาณ (x̄ = 4.03) ซึ่งทั้ง 2 ตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ พบว่า ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัดเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ระดับความเหมาะสมของการนิเทศ ติดตาม (x̄ = 4.40) และระดับความเหมาะสมของกิจกรรมที่ดำเนินการ (x̄ = 4.39) ซึ่งทั้ง 2 ตัวชี้วัดผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต พบว่า ในภาพรวมผลการประเมินอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายตัวชี้วัดเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (ค่า t = -9.060 ที่ระดับนัยสำคัญ .005) ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมากที่สุด ร้อยละของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม (94.79%) ความพึงพอใจของครู (x̄ = 4.36) ความพึงพอใจของนักเรียน (x̄ = 4.19) ความพึงพอใจของผู้ปกครอง (x̄ = 4.12) และความพึงพอใจของกรรมการสถานศึกษา (x̄ = 4.11) ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก และคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มขึ้น (ค่าความต่างเฉลี่ย 3.61%) ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับปานกลาง
ข้อเสนอแนะ
1. การประเมินโครงการในภาพรวม ผ่านเกณฑ์การประเมินตามที่กำหนดไว้อยู่ในระดับมาก จึงควรดำเนินโครงการนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ควรนำผลการประเมินครั้งนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในโครงการให้มีความหลากหลายน่าสนใจยิ่งขึ้น
2. ประเด็นด้านบริบท ตัวชี้วัดระดับความต้องการจำเป็น รายการเกี่ยวกับต้องการให้นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีความต้องการมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด ผู้บริหารสถานศึกษาควรสนับสนุนส่งเสริมโครงการนี้อย่างจริงจังโดยเชิญชวนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมและได้เห็นถึงความสำคัญในการร่วมกันพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้เกิดกับผู้เรียน
3. ประเด็นด้านปัจจัยนำเข้า ตัวชี้วัดระดับความเหมาะสมของงบประมาณรายการเกี่ยวกับความเพียงพอ และเหมาะสมของงบประมาณในแต่ละกิจกรรม มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ผู้รับผิดชอบโครงการจะต้องนำเสนอสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผู้บริหารทราบเพื่อจะได้ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาได้ปรับการจัดสรรงบประมาณ สนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์อย่างเพียงพอในปีต่อไป
4. ประเด็นด้านผลผลิต ตัวชี้วัดคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มขึ้น ด้านใฝ่เรียนรู้ มีค่าความต่างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด จึงควรเพิ่มกิจกรรมอีก เพื่อฝึกทักษะให้นักเรียนรู้จักการศึกษาหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ และควรสร้างความตระหนักให้ครูมีความรับผิดชอบและปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถและต่อเนื่องอยู่เสมอ