การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกการอ่านและการเขียนชุดมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านพรุชิง ให้มีประสิทธิภาพมาตรฐาน 80 / 80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ด้านการอ่านและเขียนมาตราตัวสะกดก่อนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกด 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจขอนักเรียนที่มีต่อการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกด
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษา คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 และปีการศึกษา 2558 โรงเรียนบ้านพรุชิง ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จำแนกเป็นกลุ่มเป้าหมายในการทดลองใช้การพัฒนาการอ่านและเขียนมาตราตัวสะกดโดยการใช้แบบฝึกทักษะสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 โรงเรียนบ้านพรุชิง ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา และกลุ่มเป้าหมายสำหรับนำการพัฒนาการอ่านและเขียนมาตราตัวสะกดโดยการใช้แบบฝึกทักษะสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ไปใช้จริง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนบ้านพรุชิง ตำบลท่าม่วง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จำนวน 14 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1) แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกดสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 2) แผนการจัดการเรียนรู้ประกอบการใช้นวัตกรรม แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกด 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกด ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เป็นแบบทดสอบ 4) แบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการใช้แบบฝึกเสริมทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกด กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โดยนำแบบทดสอบที่สร้างไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบความสอดคล้องเชิงเนื้อหา(IOC) ใช้สูตร E1 / E2 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน และหลังเรียนโดยการใช้ค่าสถิติ t – test (Dependent Samples) และวิเคราะห์ความพึงพอใจที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกด โดยหาค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้
1) แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกด พบว่า มีประสิทธิภาพ 83.93 / 81.43
2) นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 14 คน ได้คะแนนก่อนเรียนเฉลี่ย 13.5 และได้คะแนนทดสอบหลังเรียนเฉลี่ย 23.2 มีค่าพัฒนาเท่ากับ 9.7
3) นักเรียนมีความพึงพอใจในการเรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านและเขียนชุดมาตราตัวสะกด อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า แบบฝึกมีรูปภาพประกอบที่สวยงาม และแบบฝึกช่วยให้เกิดความสนุกในการเรียน ซึ่งมีความพึงพอใจอยู่ระดับมาก