ชื่อผลงาน การศึกษาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้เอกสารประกอบการเรียน
คอมพิวเตอร์น่ารู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนบ้านโคกล่าม
ชื่อผู้รายงาน นายอำนาจ อ้อมนอก ครู โรงเรียนบ้านโคกล่าม
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาเอกสารประกอบการเรียน คอมพิวเตอร์น่ารู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อค่าหาดัชนีประสิทธิผลเอกสารประกอบการเรียน คอมพิวเตอร์น่ารู้ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และ 3) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังใช้เอกสารประกอบการเรียน คอมพิวเตอร์น่ารู้
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ประชากร คือ ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2558 กลุ่มโรงเรียน
กุดหมากไฟ-อูบมุง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 1 ทั้งหมด 9 โรงเรียน นักเรียน จำนวน 173 คน กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนบ้านโคกล่าม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุดรธานี เขต 2 จำนวน 18 คน ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เอกสารประกอบการเรียน คอมพิวเตอร์น่ารู้ จำนวน 10 เล่ม แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง คอมพิวเตอร์น่ารู้ จำนวน 10 แผน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง คอมพิวเตอร์น่ารู้ ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนก (r) ตั้งแต่ 0.20 ถึง 0.90 ค่าความยาก (p) ตั้งแต่ 0.25-0.80 และค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.88 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย
ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) และดัชนีประสิทธิผล ทดสอบสมมติฐาน
โดย t-test (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. ประสิทธิภาพของเอกสารประกอบการเรียน คอมพิวเตอร์น่ารู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีประสิทธิภาพ 86.94/87.41 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือ 80/80
2. ค่าดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่เรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน คอมพิวเตอร์น่ารู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี มีค่าเท่ากับ 0.7344 หรือคิดเป็นร้อยละ 73.44
3. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนโดยใช้เอกสารประกอบการเรียน คอมพิวเตอร์น่ารู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01