ชื่อเรื่อง : รายงานการพัฒนาทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษโดยใช้แบบฝึกทักษะการ
เขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้ศึกษา : นางสาวภวรันชน์ พุทธา
หน่วยงาน : โรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี สำนักการศึกษา เทศบาลนครอุดรธานี
จังหวัดอุดรธานี
ปีที่รายงาน : 2559
บทคัดย่อ
รายงานการพัฒนาทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี สำนักการศึกษาเทศบาลนครอุดรธานี โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 (2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ด้านการเขียนคำศัพท์ภาษอังกฤษของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (3) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้น ในการศึกษาครั้งนี้กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/4 โรงเรียนเทศบาล 2 มุขมนตรี อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี สำนักการศึกษาเทศบาลนครอุดรธานี ปีการศึกษา 2558 จำนวน 1 ห้องเรียน จำนวนนักเรียน 33 คน ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)เครื่องมือ ที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ (1). แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 14 แผน รวมเวลา 14 ชั่วโมง (2) แบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 7 เล่ม
(3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการเขียนคำศัพท์ ก่อนเรียนและหลังเรียน จำนวน 30 ข้อ
(4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 20 ข้อ ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น 0.952
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการศึกษา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาประสิทธิภาพ E1/E2 ของแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษตามเกณฑ์ และการทดสอบสมมุติฐานโดยใช้ t-test แบบ Dependent Samples
ผลการศึกษา พบว่า
1. แบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ
82.19/82.84 สูงกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้คือ 80/80
2. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ด้านการเขียนคำศัพท์ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้แบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีความพึงพอใจต่อแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยรวมอยู่ในระดับ มากที่สุด
ข้อเสนอแนะ
1 ข้อเสนอแนะทั่วไป
1.1 ในการสร้างแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ในแต่ละเรื่อง ควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับระดับชั้น วัยของนักเรียน ความยากง่ายของคำถาม ความน่าสนใจของแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์และควรจัดให้เหมาะสมกับจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม เพื่อให้นักเรียนเกิดความต่อเนื่องในการเรียนรู้และเกิดประสิทธิภาพในการเรียนรู้สูงสุด
1.2 ในขณะให้นักเรียนศึกษาแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษด้วยตนเองครูผู้สอนควรดูแลและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหาขณะเดียวกันต้องคอยควบคุมดูแลเรื่องระเบียบ วินัยความประพฤติของนักเรียน เพื่อให้การศึกษาแบบฝีกทักษะการเขียนคำศัพท์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
1.3 ควรมีการเพิ่มเวลาการเรียนรู้ให้กับนักเรียนที่เรียนช้าเนื่องจากเด็กทุกคนรับรู้ได้
ไม่เท่ากันแต่ถ้าให้เวลาและโอกาสเด็กก็จะสามารถพัฒนาตนได้เท่าเทียมกับคนอื่นและ ควรมีแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ เสริมเตรียมเอาไว้สำหรับนักเรียนที่ทำเสร็จก่อน
1.4 ผู้ที่จะนำแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ไปใช้
ควรศึกษาคำชี้แจงอย่างละเอียดเพื่อให้เข้าใจถึงลักษณะวิธีการใช้แบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ
2. ข้อเสนอแนะในการศึกษาต่อไป
2.1 ควรมีการพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษเพื่อส่งเสริมตัวแปรด้านอื่นๆ เช่น ความสนใจ ในการเรียน เจตคติ และความคงทนในการเรียนรู้
2.2 ควรนำรูปแบบการสอนนี้ไปปรับปรุงแก้ไขแล้วนำไปทดลองกับนักเรียน
ทุกระดับชั้นเรียน เพื่อตรวจสอบว่าแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ที่พัฒนานี้มีประสิทธิภาพในทุกระดับหรือไม่ และควรมีการสนับสนุนให้นักเรียนชั้นอื่น ๆ ได้ใช้ เพื่อเป็นการทบทวนความรู้เพิ่มเติม
2.3 ในการสร้างแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ให้ระวังถึงส่วนที่เป็นเฉลย เพราะเด็กบางส่วนจะมีการลอกเฉลยทำให้ไม่เกิดผลต่อการเรียนรู้ควรเอาเฉลยไว้ในหน้าถัดไปไม่ควรไว้ในหน้าเดียวกัน
2.4 ควรพัฒนาแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เพื่อประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ และสามารถประเมินผลการเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งนักเรียนไม่สามารถเห็นคำตอบ
2.5 ในการสร้างแบบฝึกทักษะการเขียนคำศัพท์ภาษาอังกฤษการแบ่งเนื้อหาย่อย
ออกเป็นตอนๆ นั้นควรคำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการเรียนการสอนด้วย เมื่อถึงเวลานำไปใช้ในการเรียนการสอนจริงๆ อาจจะทำให้เนื้อหาที่สร้างมากเกินไปแต่เวลาที่สอนน้อยไม่สัมพันธ์กัน อาจทำให้ผลการใช้
แบบฝึกประสบการณ์ไม่ประสบความสำเร็จ