ชื่อเรื่อง รายงานผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนมัธยมศึกษา
เทศบาล 3 ยุติธรรมวิทยาสังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครสกลนคร
ผู้วิจัย นายอัครพงศ์ ภูติยา
ตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาล 3 ยุติธรรมวิทยา
สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครสกลนคร
ปีที่รายงาน 2558
บทคัดย่อ
รายงานผลการประเมินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพของโรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาล 3 ยุติธรรมวิทยาสังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครสกลนคร ครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินผลการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ โรงเรียนมัธยมศึกษาเทศบาล 3 ยุติธรรมวิทยา สังกัดสำนักการศึกษา เทศบาลนครสกลนคร โดยใช้การประเมินรูปแบบ CIPPIEST Model ตามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครู นักเรียนและผู้ปกครอง ตามประเด็น 8 ด้าน ได้แก่ การประเมินด้านบริบท (Context Evaluation) การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) การประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) การประเมินด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) การประเมินด้านประสิทธิผล (Effectiveness Evaluation) การประเมินด้านความยั่งยืน (Sustainability Evaluation) และการประเมินด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability Evaluation) แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มที่ให้ข้อมูลตามแบบสัมภาษณ์ ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน จำนวน 2 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 13 คน 2) กลุ่มที่ให้ข้อมูลตามแบบสอบถาม ได้แก่ ครู จำนวน 38 คน นักเรียน จำนวน 248 คน และผู้ปกครอง จำนวน 248 คน 3) กลุ่มที่ให้ข้อมูลตามแบบสนทนากลุ่ม ได้แก่ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จำนวน 6 ระดับชั้น ๆ ละ 6 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นแบบสัมภาษณ์ แบบสอบถาม และแบบสนทนากลุ่ม ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เนื้อหาสรุปข้อคิดเห็น
ผลการวิจัย พบว่า
1. ด้านบริบท (Context) พบว่า การประเมินความสอดคล้องของวัตถุประสงค์กับเป้าหมายของโครงการ การจัดสภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่เอื้อต่อสุขภาพของนักเรียน และความต้องการของบุคลากรจากการดำเนินโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด
2. ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) พบว่า การประเมินความพร้อมของวิธีการดำเนินการกับงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และสมรรถภาพบุคลากรที่สนับสนุนการดำเนินงานของโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก
3. ด้านกระบวนการ (Process) พบว่า การประเมินการควบคุมการบริหารโครงการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของการใช้ทรัพยากร การดำเนินโครงการ และการตรวจสอบโครงการ ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก
4. ด้านผลผลิต (Product) พบว่า การดำเนินโครงการตามเกณฑ์มาตรฐานการประเมินโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 10 องค์ประกอบ ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด
5. ด้านผลกระทบ (Impact) ผลกระทบทางสุขภาพ (Health Impact Assessment : HIA) ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ประกอบด้วย การมีสุขภาพดี (ดี) การดูแลสุขภาพ (เก่ง) และการมีความสุข (สุข) ความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมากที่สุด
6) ด้านประสิทธิผล (Effectiveness) ประสิทธิผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ พบว่า มีความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับ มากที่สุด
7) ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ พบว่า มีความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับ มากที่สุด
8) ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ (Transportability) การถ่ายทอดส่งต่อที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ พบว่า มีความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับ มากที่สุด