บทคัดย่อ
การบริหารงานด้านการเงินและบัญชี เป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุน
การจัดการเรียนการสอนและการบริหารจัดการสถานศึกษา ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่การเงินของโรงเรียน และผู้เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นงานที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบกฎหมายของกระทรวงการคลัง หากโรงเรียนไม่มีคู่มือในการปฏิบัติงานและบุคลากรยังขาดความรู้ ความเข้าใจ
ความสามารถในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามระเบียบ จะส่งผลกระทบต่อการบริหารและการดำเนินงานด้านอื่นๆ การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการเงิน ให้มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถจัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน และสามารถรับเงิน นำเงินฝากธนาคาร จ่ายเงิน และจัดทำบัญชี
แยกประเภทได้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน โดยใช้หลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการตามแนวคิดของ เคมมิส และแมกแท็กการ์ด (Kimmis and Mctaggart) ดำเนินการพัฒนา 2 วงรอบ แต่ละวงรอบ ประกอบด้วย การวางแผน การปฏิบัติ การสังเกต และการสะท้อนผล กลุ่มผู้วิจัยมีจำนวน 4 คน ประกอบด้วย ผู้วิจัย หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงินของโรงเรียน เจ้าหน้าที่การเงินของโรงเรียน จำนวน 2 คน กลุ่มผู้ให้ข้อมูล จำนวน 5 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม แบบสังเกต
แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินคู่มือ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพใช้การตรวจสอบสามเส้า และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าโดยการบรรยาย
ผลการวิจัย พบว่า การพัฒนาในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการ
การพัฒนาบุคลากรด้านการเงินและบัญชี การมอบหมายงาน และการสอนงานทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทุกคนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับเงิน การนำเงินฝากธนาคาร การจ่ายเงิน และการจัดทำบัญชี
แยกประเภทเพิ่มขึ้น สามารถจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานการเงินและบัญชีได้เหมาะสมและสามารถรับเงิน นำเงินฝากธนาคาร จ่ายเงินได้ถูกต้อง ยกเว้นการจัดทำบัญชีแยกประเภท เอกสารยังไม่ถูกต้อง
จึงดำเนินการพัฒนาต่อในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การศึกษาดูงาน และการนิเทศกำกับติดตาม ทำให้กลุ่มผู้ร่วมวิจัย สามารถจัดทำบัญชีแยกประเภทได้ เอกสารมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน
โดยสรุป การพัฒนาบุคลากรด้านการเงิน โรงเรียนเทศบาลวารินวิชาชาติ จังหวัดอุบลราชธานี โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการ การมอบหมายงาน การสอนงาน การศึกษาดูงานและ
การนิเทศกำกับติดตาม ทำให้บุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถดำเนินงานด้านการเงินและบัญชี ได้เอกสารที่มีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน จึงควรนำกลยุทธ์ดังกล่าวไปใช้ในการพัฒนาบุคลากรด้านการเงินและบัญชีในสถานศึกษาหรือหน่วยงานอื่นต่อไป