บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานผลการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-net) ของนักเรียนชั้นประถม ศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านวังสำราญ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) รายงานผลการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-net) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านวังสำราญ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ ๒) เพื่อรายงานผลการเปรียบเทียบการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-net) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปีการศึกษา ๒๕๕๘ และ ๓) เพื่อรายงานผลการศึกษาความพึงพอใจในการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน (O-net) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านวังสำราญ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘ ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ ประกอบด้วย ฝ่ายบริหาร ครู นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน ดำเนินโครงการโดยใช้วงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming cycle) เป็นกิจกรรมพื้นฐานในการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของการดำเนินงาน กำหนดกิจกรรมที่ใช้ในการดำเนินงาน ประกอบด้วย ๑) การบริหารจัดการ ๒) การมีส่วนร่วมของครูและบุคลากร ๓) การพัฒนานักเรียน ๔) การกระตุ้นและเสริมแรง และ ๕) การนิเทศ กำกับ ติดตามผล ปรากฏผลการดำเนินงาน ดังนี้
๑. ผลที่เกิดกับผู้เรียน
๑.๑ นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น โดยระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ (O - net) ใน ๕ กลุ่มสาระการเรียนรู้หลักของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ ๖ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๗ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ ๓๔.๐๖ และระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ ในปีการศึกษา ๒๕๕๘ เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ ๓๙.๙๑ มีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๕.๘๖
๑.๒ นักเรียนมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจเฉลี่ย ๔.๖๕ อยู่ในระดับมากที่สุด
๒. ผลที่เกิดกับครูและบุคลากรทางการศึกษา
ฝ่ายบริหาร ครูและบุคลากรมีความพึงพอใจต่อผลการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจเฉลี่ย ๔.๗๒ อยู่ในระดับมากที่สุด
๓. ผลที่เกิดกับคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียน
๓.๑ ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯ โดยภาพรวมมีความพึงพอใจเฉลี่ย ๔.๖๒ อยู่ในระดับมากที่สุด
๓.๒ คณะกรรมการสถานศึกษามีความพึงพอใจต่อการดำเนินโครงการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนฯโดยภาพรวม มีความพึงพอใจเฉลี่ย ๔.๗๓ อยู่ในระดับมากที่สุด
๔. ผลที่เกิดกับสถานศึกษา
๔.๑ สถานศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ (O-net) ที่สูงขึ้น และมีความพร้อมในการรับการประเมินคุณภาพทางการศึกษาจากภายนอกต่อไป
๔.๒ สถานศึกษาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองในการที่จะช่วยกันพัฒนาสถานศึกษาให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นในทุกๆด้าน
๕. ข้อเสนอแนะในการนำไปใช้
๕.๑ จากการประเมินความพึงพอใจของนักเรียน ฝ่ายบริหาร ครูและบุคลากร ที่มีต่อการดำเนินโครงการฯ พบว่าความพึงพอใจที่มีต่อการจัดให้มีการสอบเสมือนกับการสอบในห้องสอบจริง มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ซึ่งเป็นความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น ผู้ที่ศึกษาหรือต้องการนำไปใช้ควรทบทวนการจัดกิจกรรมดังกล่าวให้มีบรรยากาศของการสอบจริงๆ ในทุกขั้นตอน เพื่อให้นักเรียนมีความคุ้นชินกับบรรยากาศของสนามสอบ อันจะส่งผลให้นักเรียนมีสมาธิ ลดความตึงเครียดและภาวะความกดดันในการทำข้อสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
๕.๒ จากการประเมินความพึงพอใจของคณะกรรมการสถานศึกษา และผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อการดำเนินโครงการฯ พบว่า ความพึงพอใจที่มีต่อการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด ซึ่งเป็นความคิดเห็นที่สะท้อนออกมาจากบุคคลภายนอกสถานศึกษา ดังนั้น ผู้ที่ต้องการนำผลไปใช้ควรให้ความสำคัญ กับการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองนักเรียน ประสานร่วมมือกันระหว่างครู ผู้ปกครองนักเรียน เพื่อร่วมมือกันในการพัฒนานักเรียนให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้