เรื่องที่ศึกษา การพัฒนาความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับแบบฝึก
ทักษะ
ชื่อผู้ศึกษา นางสาวศรันยรตา สุดยอด
ปีที่ศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์การศึกษาเพื่อ 1) สร้างและหาประสิทธิภาพของการจัด การเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิคSTAD ร่วมกับแบบฝึกทักษะของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เทคนิคSTAD ร่วมกับแบบฝึกทักษะ 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับแบบฝึกทักษะ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาล 3 (เทศบาลสงเคราะห์) อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี สังกัดเทศบาลเมืองราชบุรี จำนวน 25 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา 1) แผนการจัดการเรียนรู้ แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับแบบฝึกทักษะเรื่อง Buddhist Proverbs 2) แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจก่อนเรียนและหลังเรียน 3) แบบฝึกทักษะเรื่อง Buddhist Proverbs กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 8 เรื่อง 4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับแบบฝึกทักษะ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย(X-bar) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D) และการทดสอบค่า ttest แบบ Dependent
ผลการศึกษาพบว่า
1. การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับแบบฝึกทักษะของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานการศึกษา ที่กำหนดไว้ โดยมีค่าประสิทธิภาพอยู่ที่ 85.92/83.52
2. ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่จัดการเรียนรู้แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับแบบฝึกทักษะ พบว่า ความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจหลังเรียนสูงกว่าความสามารถในการอ่านภาษาอังกฤษเพื่อความเข้าใจก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งสอดคล้อง กับสมมติฐานการศึกษาที่กำหนดไว้
3. ความคิดเห็นของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ แบบร่วมมือเทคนิค STAD ร่วมกับแบบฝึกทักษะ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ทั้งด้านกิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ ด้านบรรยากาศในชั้นเรียน ด้านเนื้อหาบทอ่าน และด้านประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งสอดคล้องกับสมมติฐานการศึกษาที่กำหนดไว้