เรื่อง การใช้รูปแบบการบริหารแบบ 4 D ดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีค่านิยมหลักของคนไทย 12ประการ
ชื่อผู้รายงาน นางสาวกาญจนา เดชสม รองผู้อำนวยการโรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์
ปีที่รายงาน 2558
ความเป็นมา
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2545 มาตรา 7 กล่าวถึง ความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษาว่า ในกระบวนการเรียนรู้ ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริม ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทยและความรู้อันเป็นสากลตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้ และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง การปลูกฝังและพัฒนานักเรียนให้มีลักษณะอันพึงประสงค์ตามความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษา เป็นกิจกรรมสำคัญในการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้บทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมืองและวิถีประชาธิปไตย อันได้แก่ คารวะธรรม สามัคคีธรรม ปัญญาธรรม รวมทั้งหลักธรรมาภิบาล การมีจิตอาสาและพัฒนาตนเองได้อย่างเต็มศักยภาพ มุ่งเน้นให้นักเรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมตามบทบาทและหน้าที่ของตน
รัฐบาลปัจจุบันจึงกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติข้างต้นเพื่อสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง โดยมุ่งสร้างคนในชาติให้มีค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ โรงเรียนหารเทารังสีประชาสรรค์จึงได้นำนโยบายมาใช้ในการพัฒนานักเรียนให้มีลักษณะอันพึงประสงค์ตามความมุ่งหมายและหลักการจัดการศึกษา
โดยใช้รูปแบบการบริหารแบบ 4 D ดำเนินกิจกรรม เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อจัดกิจกรรมส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ
2. เพื่อบูรณาการการส่งเสริมค่านิยมหลักของคนไทย12 ประการกับการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรสถานศึกษา
กิจกรรม/วิธีการ/ขั้นตอนสำคัญ
1. การกระจายอำนาจ (Decentralization : D1) เป็นการมอบอำนาจแบ่งงาน หน้าที่ตามภาระงานในการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ เป็นการกระจายอำนาจตามลำดับความรับผิดชอบไปสู่บุคลากรเป้าหมาย โดยอาศัยหลักธรรมาภิบาล (Good governance) ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบหลักความคุ้มค่า และหลักการของการใช้โรงเรียนเป็นฐาน (School Base Management : SBM) ซึ่งผลผลิตที่ได้รับคือ ได้ทีมงาน (Team)
2. การพัฒนา (Development : D2) เป็นการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการ
ดำเนินกิจกรรมตามแผนที่กำหนดไว้ให้แก่คณะกรรมการแต่ละชุดด้วยวิธีการที่หลากหลาย เช่น การสัมมนา
การศึกษาดูงาน หรือพานักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม โดยอาศัยหลักการและกระบวนการการจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM.)
3. การปฏิบัติ (Do : D3) เป็นการที่ทีมงานในแต่ละทีมลงมือปฏิบัติตามโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย โดยจะต้องอาศัยหลักการปฏิบัติเชิงคุณภาพตามวงจรคุณภาพของเดมมิ่ง (Deming Circle : PDCA)
P : Plan การวางแผน
1) ประชุมครู ผู้ปกครองและคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อร่วมกัน รับทราบแนวนโยบาย เป้าหมาย ในการดำเนินงาน วางแผนร่วมกัน ชี้แจงวัตถุประสงค์ และสร้างความตระหนักในการดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ
2) วางแผนการดำเนินงาน มอบหมายผู้รับผิดชอบ
3) จัดทำโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อสนองนโยบาย
D :DO ปฏิบัติตามแผน
ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ โดยบูรณาการกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น การผนวกในกิจกรรมตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน จัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านสื่อ เพลง วีดีทัศน์ กิจกรรมในและนอกห้องเรียน ฯลฯ
C: Check ตรวจสอบ
นิเทศติดตามการดำเนินงาน แบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะก่อนดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ หลังดำเนินการ มีการสรุปผลและรายงานความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้บริหารทราบอย่างต่อเนื่อง
A : Act ดำเนินการปรับปรุงให้เหมาะสม
1. ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ ให้ครูและนักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนทราบอย่างต่อเนื่อง
2. มีการปรับปรุงแผนฯ โครงการ กิจกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
3. สร้างมาตรการเร่งรัด หากมีโครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการช้ากว่าที่กำหนด และตรวจสอบ
คุณภาพอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ
4. การกำกับติดตาม (Direction : D4) เป็นการประเมินเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาให้ภาระงานที่ทีมงานดำเนินการอยู่มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลสูงสุดโดยอาศัยหลักการและกระบวนการของ ระบบ
วงจรคุณภาพ P-D-C-A (Deming Circle) กระบวนการนิเทศ (Supervision) โดยใช้หลักการการนิเทศแบบ
กัลยาณมิตร
ผลสำเร็จ
1. โรงเรียนจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ
2. ครูสามารถเชื่อมโยงการขับเคลื่อนค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ กับการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา
3. นักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการในระดับดีขึ้นไป ร้อยละ 97.07
ปัจจัยความสำเร็จ
1. ครู ผู้ปกครอง ชุมชน ให้ความร่วมมือในการส่งเสริมพัฒนาค่านิยมหลักของคนไทย 12 ประการ
2. มีการนิเทศติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง