ชื่องานวิจัย รายงานผลการจัดการเรียนรู้แบบการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก
ที่มีต่อความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจและความสามารถในการคิด วิเคราะห์ภาษาไทยโดยใช้นิทานพื้นบ้าน จังหวัดสงขลา สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ชื่อ นายอำพล นิรันดร์พุฒ
ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจภาษาไทยก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้การจัดการเรียนรู้แบบการสร้างองค์ความรู้ ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก 2) เปรียบเทียบความสามารถในการการคิดวิเคราะห์ภาษาไทยก่อนเรียนและหลังเรียน 3) เปรียบเทียบความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจภาษาไทย และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ภาษาไทย ระหว่างกลุ่มทดลองที่จัดการเรียนรู้แบบการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก และกลุ่มควบคุมที่ใช้จัดการเรียนรู้แบบปกติ 4) ศึกษาความพึงพอใจที่มีต่อการจัดการเรียนรู้แบบการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 5/1, 5/2, 5/3 และ 5/4 ของโรงเรียนเทศบาล ๑ (เอ็งเสียงสามัคคี) อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 จำนวนนักเรียน 152 คนจาก 4 ห้องเรียน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่มโดยวิธีการจับสลาก เพื่อกำหนดเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ดังนี้ กลุ่มทดลองได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/2 และ 5/3 จำนวนนักเรียน 76 คน ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก กลุ่มควบคุม ได้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5/1 และ 5/4 จำนวน 76 คน ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ทั้ง 2 กิจกรรมอย่างละ 7 แผน 2) แบบทดสอบ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจภาษาไทย ชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่าย (p) อยู่ระหว่าง 0.33-0.78 ค่าอำนาจจำแนก (r) รายข้อตั้งแต่ 0.20-0.92 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.83 และแบบทดสอบวัดความสามารถในการในการคิดวิเคราะห์ ภาษาไทยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากง่าย (p) อยู่ระหว่าง 0.28-0.78 ค่าอำนาจจำแนก (r) รายข้อตั้งแต่ 0.27-0.90 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 3) แบบประเมินความพึงพอใจ ของนักเรียนมีความพึงพอใจ ต่อผลการจัดการเรียนรู้แบบการสร้างองค์ความรู้ ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แบบมาตราส่วนประเมินค่า 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.83 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าความสอดคล้อง (IOC) หาค่าความยากง่าย (p) และหาค่าอำนาจจำแนก (r) และการทดสอบสมมุติฐานใช้ t-test
ผลการวิจัย พบว่า
1. ความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้วิธีสอนแบบ การสร้างองค์ความรู้ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
2. ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียนโดยใช้วิธีสอนแบบการสร้างองค์ความรู้ ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
3. ความสามารถในการอ่านเพื่อความเข้าใจภาษาไทยและความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังเรียนทดลองระหว่างกลุ่มทดลองที่ใช้วิธีสอนแบบการสร้างองค์ความรู้ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิกและกลุ่มควบคุมที่สอนโดยใช้วิธีสอนแบบปกติ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
4. ความพึงพอใจ ที่มีต่อวิธีสอนแบบ การสร้างองค์ความรู้ร่วมกับเทคนิคผังกราฟิก ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อยู่ในระดับพึงพอใจมากทุกข้อซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ (3.5) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05