ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิด
แก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้วิจัย : นางอรุณรัตน์ รอดสม
โรงเรียน : โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง
ปีการศึกษา : 2558
บทคัดย่อ
การวิจัย เรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันและความต้องการในการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของครูผู้สอนวิทยาศาสตร์ 2) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 3) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง สำนักการศึกษา เทศบาลนคร จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหา และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระ
ผลการวิจัยพบว่า
1. สภาพปัจจุบันครูผู้สอนวิทยาศาสตร์จัดการเรียนการรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหา อยู่ในระดับปานกลาง และครูผู้สอนวิทยาศาสตร์มีความต้องการในการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหา อยู่ในระดับมากที่สุด
2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีชื่อเรียกว่า PPAEL Model มีองค์ประกอบดังนี้ 1) ทฤษฎี / หลักการ/ แนวคิดของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบ ประกอบด้วยขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 5 ขั้น คือ (3.1) ขั้นตระหนักปัญหา (Problem Orientation) (3.2) ขั้นการกำหนดหรือระบุปัญหา (Problem finding) (3.3) ขั้นวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา (Analysis) (3.4) ขั้นเสนอวิธีการแก้ปัญหา (Exploring Strategies) (3.5) ขั้นตรวจสอบวิธีการและประเมินผล (Looking) 4) ผลจากการนำรูปแบบไปใช้ 5) ตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบที่พัฒนาขึ้นโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีความสอดคล้องกัน (IOC อยู่ระหว่าง 0.801.00) และนำไปหาค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) แบบภาคสนาม (Field tryout) กับนักเรียนโรงเรียนเทศบาล
วัดเสมาเมือง ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2557 ที่กำลังจะขึ้นเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2558 ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 คน ได้ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบ เท่ากับ 81.22/80.31 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ที่ 80/80
3. ความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่เรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิตที่ระดับ .01 โดยความสามารถในการคิดแก้ปัญหาหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. ความพึงพอใจนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อการเรียนโดยใช้รูปแบบการจัด
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในระดับมากที่สุด