ชื่อเรื่อง ความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช
ผู้วิจัย นางสุจินต์ ศรีวิสุทธิ์
ปีที่วิจัย 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาระดับความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช 2) เพื่อเปรียบเทียบระดับความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการศึกษาของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยแยกจำแนกตามเพศ และระดับการศึกษา 3) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะแนวทางส่งเสริมความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช
กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้มี จำนวน 3 กลุ่ม คือ 1) นักเรียนชั้นประถมศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 2 คน 2) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 71 คน และ 3) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 92 คน รวมทั้งหมด 165 คน โดยผู้วิจัยกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้สูตรเครซี่และมอร์แกน (Krejcie and Morgan, 1970
อ้างในธีรวุฒิ เอกะกุล,.2543) จากนักเรียนที่ลง ทะเบียนเรียนที่ศูนย์การศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราชในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2557 รวมทั้งสิ้น 288 คน คำนวณตามสูตรแล้ว จึงได้จำนวนกลุ่มประชากรตัวอย่าง ทั้งสิ้น 165 คน
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบค่าที(t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) ผลการวิจัย พบว่า
1. ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเป็นเพศชาย ระดับการศึกษา ส่วนใหญ่ จะอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
2. ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ระดับความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช รายด้านโดยรวมอยู่ในระดับมากทุกด้าน และเมื่อจำแนกเป็นรายด้าน พบว่า
2.1 ด้านหลักสูตร อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยสูงไปหาต่ำ 3 ลำดับแรก คือ หลักสูตรกำหนดให้มีกลุ่มหมวดวิชาครบทั้ง 8 หมวดวิชา หลักสูตรที่เรียนช่วยหลักสูตรช่วยให้นักศึกษาเป็นคนดี มีปัญญา มีคุณภาพ และหลักสูตรที่เรียนช่วยให้นักศึกษาพึ่งพาตนเองได้ตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือนักศึกษามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนการเรียนรู้
2.2 ด้านการดำเนินการแนะแนว อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยสูงไปหาต่ำ 3 ลำดับแรก คือ การแนะแนะช่วยส่งเสริมและพัฒนาความสามารถทางการเรียนของนักศึกษามากขึ้น การแนะแนะช่วยให้นักศึกษาปรับตนให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข การแนะแนวช่วยให้นักศึกษาค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ดียิ่งขึ้น ตามลำดับ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ การแนะแนะช่วยให้นักศึกษาเข้าใจวิธีการพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองเงื่อนไขการจบหลักสูตรแต่ละระดับได้ดี
2.3 ด้านการจัดกระบวนการเรียน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยสูงไปหาต่ำ 3 ลำดับแรก คือ การจัดกระบวนการเรียนรู้ช่วยส่งเสริมให้นักศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น การจัดกระบวนการเรียนรู้ช่วยให้นักศึกษานำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และ การจัดกระบวนการเรียนรู้ ได้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ นักศึกษามีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้
2.4 ด้านการวัดและประเมินผลการเรียนอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อเรียงลำดับจากค่าเฉลี่ยสูงไปหาต่ำ 3 ลำดับแรก มีการวัดและประเมินผลการเรียนปลายภาคเรียนช่วยให้นักศึกษาได้ทราบผลการเรียนของตนเองตลอดภาคเรียน มีการวัดและประเมินผลระหว่างเรียนช่วยให้นักศึกษาได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนรู้ของตนเอง และมีการดำเนินการวัดผลและประเมินผลการเรียนด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุดคือ การวัดผลและประเมินผลการเรียนช่วยพัฒนาคุณภาพการเรียนของนักศึกษา
3. ผลการเปรียบเทียบความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีเพศต่างกัน ความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
4. ผลการเปรียบเทียบนักศึกษาที่มีระดับการศึกษาต่างกัน ความพึงพอใจของนักศึกษาต่อการจัดการศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดนครศรีธรรมราช แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการจัดระบบการเรียนรู้ และด้านการวัดและการประเมินผล แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนด้านหลักสูตร และด้านการดำเนินการแนะแนว ไม่แตกต่างกัน