ชื่อเรื่อง : รายงานการประเมินโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ กลุ่มสาระสร้างเสริม
ของโรงเรียนเทศบาล 1 (พรหมวิหาร)
ชื่อผู้รายงาน : วีระเชษฐ์ วรรณรส
ปีที่รายงาน : พ.ศ.2558
-----------------------------------------------------------------------------------------
รายงานการประเมินโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์ กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดพรหมวิหาร) มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยเบื้องต้น
ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิตของโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดพรหมวิหาร) ในปีการศึกษา 2558 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปของสตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam’s CIPP Modle) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินโครางการประกอบด้วยผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และนักเรียน จำนวน 258 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น (Stratified Random Sampling) ตามสัดส่วนจากตารางของเครจซี่และมอร์แกน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลสำหรับการประเมินโครงการเป็นแบบสอบถาม จำนวน 5 ฉบับ แบบสอบถามฉบับที่ 1 แบบสอบถามด้านบริบท แบบสอบถามฉบับที่ 2 แบบสอบถามด้านปัจจัยเบื้องต้น แบบสอบถามฉบับที่ 3 แบบสอบถามด้านกระบวนการ แบบสอบถามฉบับที่ 4 แบบสอบถามด้านผลผลิต และแบบสอบถามฉบับที่ 5 แบบสอบถามความพึงพอใจ โดยแบบสอบถามทั้ง 5 ฉบับ เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)
5 ระดับ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 19 พฤษภาคม 2558 - 20 กุมภาพันธ์ 2559
การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS
ผลการประเมินสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบท การประเมินผลความเหมาะสมด้านบริบทของการดำเนินโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดพรหมวิหาร) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายข้อ พบว่า เป้าหมายของโครงการสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาส่งเสริมแหล่งเรียนรู้ของโรงเรียน มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ วัตถุประสงค์ของโครงการสอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียน และโครงการมีความสอดคล้องกับความต้องการของครูและนักเรียน ตามลำดับ ส่วนระยะเวลาในการดำเนินงานของโครงการมีความชัดเจนมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้น การประเมินผลความเหมาะสมด้านปัจจัยเบื้องต้นของการดำเนินโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1
(วัดพรหมวิหาร) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายข้อ พบว่า ความเพียงพอของบุคลากรที่รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมของโครงการมีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาคือ ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของโครงการ และงบประมาณที่ใช้ในการดำเนิน กิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ ตามลำดับ ส่วนความเหมาะสมของระยะเวลาในการดำเนินโครงการมีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการ การประเมินผลความเหมาะสมด้านกระบวนการของการดำเนินโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1
(วัดพรหมวิหาร) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และคณะกรรมการสถานศึกษา
ขั้นพื้นฐาน ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายข้อ พบว่า การได้รับความร่วมมือจากครู บุคลากรและนักเรียนในโรงเรียน
มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ การเตรียมการก่อนการดำเนินงานมีความเหมาะสม และมีระบบการติดตามและประเมินผลที่ชัดเจน ตามลำดับ ส่วนการจัดสรรงบประมาณที่ใช้ดำเนินการในแต่ละกิจกรรมมีความเหมาะสมและเพียงพอมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
4. ผลการประเมินด้านผลผลิต
4.1 ผลการประเมินด้านผลผลิต การประเมินผลความเหมาะสมด้านผลผลิตของการดำเนินโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดพรหมวิหาร) ตามความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา ครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครอง และนักเรียน ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายข้อ พบว่า แหล่งเรียนรู้ส่งเสริมกระบวนการคิดสร้างสรรค์มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ แหล่งเรียนรู้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงด้วยการปฏิบัติ และมีการสรุปโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1
(วัดพรหมวิหาร)ได้นำเอาผลการดำเนินโครงการไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามลำดับ ส่วนแหล่งเรียนรู้มีบริการกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมีการจัดขึ้น อย่างต่อเนื่อง หรือหมุนเวียนไปมีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
4.2 ผลการประเมินความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรม ในโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดพรหมวิหาร) ในภาพรวมมีความ
พึงพอใจอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกกิจกรรม เมื่อพิจารณาความพึงพอใจเป็นรายกิจกรรม พบว่า กิจกรรมการพัฒนาแหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ “ศูนย์การเรียนรู้อาเซียน” มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาคือ กิจกรรมการพัฒนาแหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ สุขศึกษาและพลศึกษา “สนามกีฬา” และกิจกรรมการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
“สวนวรรณคดี” ตามลำดับ ส่วนกิจกรรมการพัฒนาแหล่งเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม “ลานธรรมะ” มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด
กล่าวโดยสรุป ผลการประเมินโครงการแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์กลุ่มสาระสร้างเสริมของโรงเรียนเทศบาล 1 (วัดพรหมวิหาร) ในภาพรวมมีระดับความคิดเห็นการจัดทำโครงการมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก และผ่านเกณฑ์การประเมินทุกด้าน เมื่อพิจารณากรอบการประเมินเป็นรายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ ด้านปัจจัยเบื้องต้น รองลงมาคือ ด้านบริบท
ด้านกระบวนการ และด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุด คือ ด้านผลผลิต ตามลำดับ