ชื่อเรื่อง การบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในการพัฒนางานวิชาการของโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์)
ผู้วิจัย นางนัยนา อังคุตรานนท์
ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) เทศบาลเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ปีวิจัย ปีการศึกษา 2557
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์การวิจัยคือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการบริหารงานวิชาการ ของครูผู้สอนในโรงเรียน 2) เพื่อสร้างแนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในการพัฒนางานวิชาการ ของโรงเรียน และ 3) เพื่อศึกษาผลการทดลองใช้แนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในการพัฒนางานวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) ประชากรเป็นผู้ให้ข้อมูลในการวิจัยคือ ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 13 คน ครูผู้สอนในโรงเรียน จำนวน 45 คน และคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ แบบสอบถามสภาพปัญหาการบริหารงานวิชาการมีค่าความเชื่อมั่น .94 แนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในการพัฒนางานวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) แบบตรวจสอบเพื่อประเมินความเหมาะสมของแนวทางการบริหารสถานศึกษา มีค่าความเชื่อมั่น .94 แบบประเมินความสามารถในการบริหารงานวิชาการ มีค่าความเชื่อมั่น .92 แบบประเมินมาตรฐานการศึกษา แบบประเมินประสิทธิผลของแนวทางการบริหารสถานศึกษา มีค่าความเชื่อมั่น .92 และแบบสอบถามความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารโรงเรียนด้วยแนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน มีค่าความเชื่อมั่น .92 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และสถิติการบรรยาย
สรุปผลการวิจัย
1. สภาพปัญหาการบริหารงานวิชาการของครูผู้สอนในโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) พบว่า โดยรวมและรายด้านมีสภาพปัญหาการบริหารงานวิชาการ อยู่ในระดับปานกลาง
2. แนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในการพัฒนางานวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) มีองค์ประกอบ 5 ด้าน คือด้านการบริหารหลักสูตร (Curriculum Management) ด้านการบริหารการจัดการเรียนรู้ (Learning Management) ด้านการบริหารการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ (Evaluation Management) ด้านการบริหารการนิเทศภายใน (Supervision Management) และด้านการบริหารการประกันคุณภาพภายใน (Quality Assurance Management) โดยผลการตรวจสอบเพื่อประเมินความเหมาะสมของแนวทางโดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า โดยรวมแนวทางการบริหารสถานศึกษามีความเหมาะสมและนำไปปฏิบัติได้อยู่ในระดับมากที่สุด และทุกด้านของแนวทางมีความเหมาะสมและนำไปปฏิบัติได้อยู่ในระดับมากที่สุด
3. การทดลองใช้แนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในการพัฒนางานวิชาการ ของโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) พบว่า โดยรวมครูผู้สอนมีความสามารถในการบริหารงานวิชาการ อยู่ในระดับมากที่สุด ผลการประเมินมาตรฐานการศึกษา อยู่ในระดับดีมาก ได้รับรองมาตรฐานการศึกษา มีคะแนนเฉลี่ยที่ได้ 90.27 แนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานมีประสิทธิผล อยู่ในระดับมากที่สุด และทั้งครูผู้สอนและผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการบริหารโรงเรียนด้วยแนวทางการบริหารสถานศึกษาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ในการพัฒนางานวิชาการ ของโรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานในการพัฒนาคุณลักษณะ
อันพึงประสงค์ ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์)
ผู้วิจัย นางนัยนา อังคุตรานนท์
ผู้อำนวยการสถานศึกษา วิทยฐานะผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) เทศบาลเมืองกาญจนบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
ปีวิจัย ปีการศึกษา 2558
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน บริบทและสภาพแวดล้อมเกี่ยวกับวิธีการจัดการเรียนรู้ 2) พัฒนารูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน 3) ศึกษาผลการทดลองใช้รูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน และ 4) ประเมินรูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ใน การพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) ก่อนนำออกเผยแพร่ต่อไป ประชากรที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ครูผู้สอน จำนวน 44 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 533 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 533 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ รูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน แบบตรวจสอบเพื่อประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน มีค่าความเชื่อมั่น .93 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของครูผู้สอน แบบประเมินคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน มีค่าความเชื่อมั่น .94 แบบประเมินความสามารถในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน มีค่าความเชื่อมั่น .95 และแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ปกครองที่มีต่อการบริหารโรงเรียน มีค่าความเชื่อมั่น .94 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ยร้อยละ ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และสถิติการบรรยาย
สรุปผลการวิจัย
1. การศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้ พบว่า ครูผู้สอนต้องการให้ผู้บริหารส่งเสริมและพัฒนาวิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน
2. รูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) ที่พัฒนาขึ้นมีชื่อว่า SCPCEL Model มีองค์ประกอบ 6 ด้าน คือ ด้านการมีส่วนร่วม (Participating : P) ด้านการสร้างความรู้ (Constructing : C) ด้านการจัดการเรียนรู้ (Learning : L) ด้านการพัฒนาคุณลักษณะ (Characterizing : C) ด้านการประเมินผล (Evaluating : E) และด้านความพอใจ (Satisfying : S) ผลการตรวจสอบความเหมาะสมโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ทั้งรูปแบบและองค์ประกอบมีความเหมาะสมและนำไปใช้ในการบริหารโรงเรียนได้ อยู่ในระดับมากที่สุด
3. การทดลองใช้รูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) พบว่า นักเรียนในทุกชั้นเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนปีการศึกษา 2558 สูงกว่าปีการศึกษา 2557 คิดเป็นร้อยละ 7.13 และนักเรียนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ อยู่ในระดับดีมาก
4. การประเมินรูปแบบการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน ในการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ของนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 5 (กระดาษไทยอนุเคราะห์) ก่อนนำออกเผยแพร่ พบว่า ครูมีความสามารถในการจัด การเรียนรู้ อยู่ในระดับมากที่สุด และผู้ปกครองนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการบริหารโรงเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด