การพัฒนาแบบฝึกทักษะ เรื่อง การร้อยมาลัย วิชางานประดิษฐ์เพิ่มเติม ชั้น ม.3
ชื่อเรื่อง การพัฒนาแบบฝึกทักษะ เรื่อง การร้อยมาลัย วิชางานประดิษฐ์เพิ่มเติม
กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
ผู้ศึกษา นายบรรเทา อะปะมะทัง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สถานศึกษา โรงเรียนยางวิทยาคม อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเขต พื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อหาประสิทธิภาพของแบบฝึกทักษะ หาดัชนีประสิทธิผล เปรียบเทียบคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน และศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน
ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะ เรื่อง การร้อยมาลัย วิชางานประดิษฐ์เพิ่มเติม กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนโรงเรียนยางวิทยาคม อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 26 คน โดยใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายด้วยการจับสลากรายชื่อห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา คือ (1) แบบฝึกทักษะ 12 เล่ม เวลาเรียน 24 ชั่วโมง (2) แบบทดสอบย่อย 12 ฉบับ รวม 120 ข้อ มีความเชื่อมั่นตั้งแต่ 0.84-0.86 และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจำนวน 40 ข้อ มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 (3) แบบสอบถามความพึงพอใจ 20 ข้อ มีความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.97 และ (4) แผนการจัดการเรียนรู้ 12 แผน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบด้วยค่า t (Dependent samples) ปรากฏผลการศึกษา ดังนี้
1. แบบฝึกทักษะ เรื่อง การร้อยมาลัย วิชางานประดิษฐ์เพิ่มเติม มีประสิทธิภาพรวมเฉลี่ยเท่ากับ 85.27/84.62 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80 โดยแต่ละเล่มมีประสิทธิภาพตั้งแต่ 80.84-88.52
2. แบบฝึกทักษะ เรื่อง การร้อยมาลัย วิชางานประดิษฐ์เพิ่มเติม มีค่าดัชนีประสิทธิผลรวมเฉลี่ยเท่ากับ 75.15 ตรงตามเกณฑ์ 70 หรืออยู่ในระดับดี แสดงว่า นักเรียนมีความก้าวหน้า
ในการเรียนรู้เพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 75.15
3. นักเรียนมีคะแนนผลสัมฤทธิ์หลังการเรียนด้วยแบบฝึกทักษะ เรื่อง การร้อยมาลัย รวมเฉลี่ยและทั้ง 12 เล่ม มากกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยแบบฝึกทักษะ
โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ นักเรียนชอบแบบฝึกทักษะที่ช่วยให้การเรียนรู้เรื่อง การร้อยมาลัย ได้ดียิ่งขึ้นและน่าสนใจทุกเนื้อหา รองลงมา คือ นักเรียน
ชอบกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายและได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนอย่างต่อเนื่อง