การจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบ 5 ส. เพื่อพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 เป็นการวิจัยและพัฒนา (research and development) ซึ่งประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การวิจัย (Research) ศึกษาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับบริบทของการจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. ขั้นตอนที่ 2 สร้างและหาประสิทธิภาพของแผนประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาผลการทดลองตามแผนประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ขั้นตอนที่ 4 ศึกษาความพึงพอใจของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2/1 ของโรงเรียนเทศบาล 1 สุรินทร์วิทยาคม เทศบาลเมืองสุรินทร์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 30 คน แบบแผนในการวิจัย ใช้การทดลองแบบ pre experimental design โดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แผนจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. เป็นแผนการจัดประสบการณ์ จำนวน 42 แผน 2) กิจกรรมการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์แบบ 5 ส. จำนวน 42 กิจกรรม 3) แบบประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหา เป็นแบบประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย อายุ 4-5 ปี ลักษณะข้อสอบเป็นสถานการณ์ประกอบรูปภาพ จำนวน 20 ข้อ แบ่งออกเป็น 2 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 แบบประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของตนเอง หมายถึง การที่เด็กปฐมวัยใช้ในการแก้ไขอุปสรรคหรือสถานการณ์ที่ยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับตนเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น จำนวน 10 ข้อ ตอนที่ 2 แบบประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของตนเองที่เกี่ยวข้องกับผู้อื่น หมายถึง การที่เด็กปฐมวัยใช้ในการแก้ไขอุปสรรคหรือสถานการณ์ที่ยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับตนเองโดยต้องพึ่งพาผู้อื่น เช่น เพื่อน ผู้ปกครอง ครู หรือ บุคคลรอบข้าง จำนวน 10 ข้อ 4) แบบสอบถามวัดความพึงพอใจในการเรียน เป็นแบบสอบถาม เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) จำนวน 1 ชุด 10 ข้อ
การวิจัยครั้งนี้ มุ่งพัฒนาการทักษะการแก้ปัญหาด้วยการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. สำหรับนักเรียนปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 โดยการศึกษาความคิดเห็นและข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ แล้วนำมาสร้างและพัฒนาการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. มีเนื้อหาจำนวน 42 กิจกรรม ซึ่งแต่ละกิจกรรมมีตัวอย่างให้เด็กปฐมวัยได้แก้ปัญหาสถานการณ์ คู่มือประเมินทักษะการแก้ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูลโดยการใช้ค่าสถิติร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( x-) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าทดสอบค่าที (t-test) แบบ dependent และการวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) แล้วนำเสนอแบบพรรณาความและตาราง
ผลการวิจัย พบว่า
จากการวิจัยครั้งนี้สามารถสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการศึกษาข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับบริบทของการจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. ดังนี้
1.1 ผลการศึกษาแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า การจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ เพื่อประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย เป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่มีความเหมาะสมที่จะนำไปจัดการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี เพราะการจัดกิจกรรม ด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย สามารถช่วยแก้ปัญหาการเรียนได้ และยังช่วยอำนวยความสะดวกแก่ครู นอกจากนี้การจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. ยังสามารถประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ซึ่งทำให้มีการพัฒนาของเด็กปฐมวัยความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
1.2 ผลการวิเคราะห์หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 พบว่า หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เป็นหลักสูตรที่พัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตามศักยภาพภายใต้บริบทของสังคม วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคน เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้พัฒนาเด็กไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม นอกจากนี้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ 3 5 ปี มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคมและสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย และมีสุขนิสัยที่ดี กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรงใช้อย่างคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน มีสุขภาพจิตดีและมีความสุข มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจที่ดีงาม ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหวและรักการออกกำลังกาย ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมและความเป็นไทย อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีทักษะในการแสวงหาความรู้
1. ผลการศึกษาความคิดเห็นและความต้องการของนักเรียนเกี่ยวกับการจัดประสบการณ์ การจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 กิจกรรมการวัดผลและประเมินผล พบว่า ผู้เรียนและผู้ที่เกี่ยวข้องเห็นว่า การพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาสำหรับเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบ 5 ส. สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นอนุบาลปีที่ 2 ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มีตัวอย่าง ลักษณะของกิจกรรมที่ชัดเจน รูปภาพสวยสีสันเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย นอกจากเนื้อหาในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 แล้วควรเพิ่มเติมหรือแทรกเนื้อหาให้สอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันในทุกกิจกรรมทั้ง 42 กิจกรรม ด้านการนำการจัดประสบการณ์กิจกรรมกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ โดยการจัดเป็นกลุ่ม 4-5 คน เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ เรียนรู้ด้วยตนเองเป็นรายบุคคล เรียนรู้แบบกลุ่มย่อย 2 คน มีการวัดผลและประเมินผลครอบคลุมด้านความรู้ ทักษะกระบวนการและเจตคติ โดยใช้เครื่องมือที่หลากหลาย เช่น ฟังซิ...มาฟังฉันซิ ใช้เครื่องมือ ดังนี้ กระป๋องน้ำอัดลมจำนวน 3 ใบ ,สิ่งของที่ใส่ในกระป๋อง เช่น ก้อนหิน เมล็ดถั่วเขียว เมล็ดถั่วดำ ลูกแก้วและทราย ,กลอง ,ปริศนาคำทาย เป็นต้น นอกจากนี้การจัดกิจกรรมในแต่ละกิจกรรมก็จะใช้เครื่องมือ วัสดุ อุปกรณ์ที่สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมในแต่ละชุด
2. ผลการพัฒนา (development) การสร้างและหาประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 พบว่า
2.1 ประสิทธิภาพของแผนการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. ของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยสร้างและพัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 82.54/83.50 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
2.2 การเปรียบเทียบการประเมินทักษะก่อนการพัฒนาและหลังการประกอบการจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. คะแนนเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 โดยมีค่า t เท่ากับ 10.83
3. ผลการทดลองพัฒนาทักษะการคิดแก้ปัญหาสำหรับเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบ 5 ส. สำหรับเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 1 สุรินทร์วิทยาคม เทศบาลเมืองสุรินทร์ จำนวน 30 คน ซึ่งใช้การจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบ 5 ส. จำนวน 42 ชั่วโมง รวมทั้งประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาผลการทดลองใช้ พบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ มีความสนใจ กระตือรือร้นในการเรียนรู้ด้วยการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบ 5 ส. มีทักษะการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีความสุข สนุกกับการเรียน มีความรับผิดชอบในการเรียนรู้ กิจกรรมกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แบบ 5 ส. ที่นำมาทดลองใช้ นำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงมาประกอบการเรียนรู้
4. ผลการประเมินความพึงพอใจในการเรียนของนักเรียนปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่มีต่อจัดกิจกรรมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อประเมินทักษะการคิดแก้ปัญหาของเด็กปฐมวัยชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ แบบ 5 ส. ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( x-= 2.51,S.D.= 0.69) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.69 แสดงว่า นักเรียนมีความพึงพอใจมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อนักเรียนมีความพึงพอใจมาก จำนวน 6 ข้อ พึงพอใจปานกลาง จำนวน 4 ข้อ