ชื่อเรื่อง การจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง)
ผู้วิจัย นางสาวมุกดา แสงสว่าง
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร
จังหวัดอุบลราชธานี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อ 1) เพื่อพัฒนาการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อศึกษาดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) และ 3) เพื่อเปรียบเทียบความพร้อมทางพัฒนาการภาษา ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 3โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) โดยใช้แบบทดสอบวัดความพร้อมพัฒนาการทางภาษา ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 112 คน กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) สังกัดเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 37 คน ที่ได้มาโดยวิธีการเลือกแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) มีหน่วยการสุ่มเป็นห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ 1) การจัดนิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 10 แผน 2) นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษา จำนวน 10 เล่ม และ3 ) แบบทดสอบวัดความพร้อมพัฒนาการทางภาษา เป็นแบบทดสอบประเภทจับคู่ภาพกับคำศัพท์ จำนวน 10 ข้อ สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การตรวจสอบความเที่ยงตรง (Validity) การตรวจสอบค่าความยาก (Difficulty) การตรวจสอบค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Mean) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าสถิติ t (T-test dependent sample) และดัชนีประสิทธิผล (Effectiveness Index)
ผลการวิจัยพบว่า 1. การจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) มีค่าประสิทธิภาพของคะแนนกระบวนการ (E¬1 ) เท่ากับ 82.54 และคะแนนผลลัพธ์ (E2 ) เท่ากับ 85.47 มีประสิทธิภาพของการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 E1 /E2 เท่ากับ 82.54/85.47 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80
2. ดัชนีประสิทธิผลของการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.6062 ดังนั้นนักเรียนที่เรียนด้วยการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีความรู้เพิ่มขึ้นร้อยละ 60.62
3. การเปรียบเทียบความพร้อมพัฒนาการทางภาษา ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยการจัดประสบการณ์โดยใช้นิทานเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล ๑ (บ้านโพธิ์กลาง) โดยใช้แบบทดสอบวัดความพร้อมพัฒนาการทางภาษา มีคะแนนก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 25.24 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.70 และคะแนนหลังเรียน เท่ากับ 34.19 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.18 และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน พบว่า คะแนนสอบหลังเรียนของนักเรียนมีค่าสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05