ชื่อเรื่อง ผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง การหาร
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง
ผู้วิจัย นายวีระยุทธ สิงหะหล้า
ตำแหน่ง / สังกัด ครูชำนาญการโรงเรียนบ้านหัวนาคำ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิเขต 1
ปีการศึกษา 2559
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง เรื่อง การหาร ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังการใช้บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง และ 3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ วิชาคณิตศาสตร์โดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง เรื่อง การหาร
กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาในครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียน บ้านหัวนาคำ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ปีการศึกษา 2559 จำนวน 13 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การหาร จำนวน 16
แผน บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง จำนวน 6 เล่ม แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียนของบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง แบบสังเกตการณ์ร่วมกิจกรรม และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เรื่อง การหาร แบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติ ดังนี้ คะแนนบทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง และคะแนนแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ใช้ค่าเฉลี่ย ( ) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D)
ผลการวิจัย พบว่า
1. บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง เรื่อง การหาร มีประสิทธิภาพ 84.10 / 90.51 หมายความว่า
บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรงนี้ทำให้นักเรียนทำคะแนนระหว่างเรียน (ประสิทธิภาพของกระบวนการ) ได้ร้อยละ 84.10 และได้คะแนนเฉลี่ยจากแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (ประสิทธิภาพของผลลัพธ์) คิดเป็นร้อยละ 90.51 แสดงว่า บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรงที่สร้างขึ้น มีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ (80/80)
2. คะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนของนักเรียน เท่ากับ 19.46 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.88 และคะแนนเฉลี่ยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนของนักเรียน เท่ากับ 27.15 ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.77 เมื่อทดสอบความแตกต่างของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นั่นคือ คะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนมีค่ามากกว่าคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียน
3. ความคิดเห็นของนักเรียนต่อการเรียนโดยใช้บทเรียนสำเร็จรูปแบบเส้นตรง โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีความคิดเห็นด้านคุณลักษณะอื่น ๆ อยู่ในระดับมากที่สุด เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 ลำดับแรก คือ 1) เกิดความสนุกสนาน 2) เกิดความมั่นใจในตนเอง และ 3) เกิดความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ขณะที่ความคิดเห็นด้านการแก้ปัญหา/การใช้เหตุผล อยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 ลำดับแรก คือ 1) ได้ใช้ความสามารถของตนเอง 2) นำไปใช้แก้ปัญหาได้ดี และ 3) มีโอกาสแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และด้านโครงสร้างความรู้ อยู่ในระดับมาก เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย 3 ลำดับแรก คือ 1) เข้าใจบทเรียนดีขึ้น 2) สามารถสรุปสาระสำคัญของบทเรียนได้ดี และ 3) ได้สร้างความรู้ด้วยตนเอง